×

เปิดข้อมูล ‘น้ำเน่าเสีย’ ใน กทม. ต้นตอมาจากไหน เหตุใดการแก้ปัญหาไม่สำเร็จสักที

โดย THE STANDARD TEAM
05.05.2022
  • LOADING...
น้ำเน่า

‘น้ำเน่าเสีย’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีคลองโอ่งอ่างที่สวยใสจนเป็นที่เลื่องลือไปแล้ว แต่ กทม. ไม่ได้มีแค่คลองโอ่งอ่างเพียงคลองเดียว เพราะ กทม. มีคลองมากถึง 1,161 คลอง รวมความยาวกว่า 2,272,310 เมตร

 

THE STANDARD ชวนอ่านข้อมูลจาก Rocket Media Lab เพื่อทำความเข้าใจเรื่องปัญหาน้ำเน่าเสียใน กทม. ว่านอกจากเรื่องการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำลำคลอง การปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมลงแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ทำให้น้ำเน่าเสียและกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้สักที 

 

กทม. กับความพยายามแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

กทม. พยายามแก้ไขปัญหาน้ำเสียมาโดยตลอด ด้วยความพยายามพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัย อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่อนุมัติงบฯ 250 ล้านบาทสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่ปลายคลองช่องนนทรี (และสร้างเสร็จในสมัย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง) และในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 ก็ได้วางแนวนโยบายการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยการพัฒนาระบบบำบัดน้ำและสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกัน ในขณะที่มาตรการทางกฎหมายนั้นมีให้เห็นในยุค ชลอ ธรรมศิริ กับการใช้มาตรการทางกฎหมายแก่คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและโรงงานอุตสาหกรรมที่ทิ้งของเสียลงในน้ำ และ เทียม มกรานนท์ ที่มีการกำหนดข้อบัญญัติให้เอกชนเจ้าของโรงแรม หอพัก และอาคารชุด ดำเนินการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย

 

อันที่จริงความพยายามจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบใน กทม. มีมาตั้งแต่ปี 2511 โดยบริษัท Camp Dresser & Maker Consulting Engineers (CDM) ได้เสนอแผนหลักระบบระบายน้ำ ระบบกำจัดน้ำเสียและป้องกันน้ำท่วมในเขต กทม. แต่ด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้ กทม. ต้องจัดการปัญหาเฉพาะหน้าอย่างน้ำท่วมก่อน จากนั้นก็เกิดสำนักการระบายน้ำขึ้นในปี 2520 ต่อมาในปี 2521 กทม. จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างเป็นระบบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) จนเกิดเป็น ‘แผนหลักระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2524’ ซึ่งก่อให้เกิดโครงการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ 2 โรง นั่นก็คือโรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ขนาดบำบัดน้ำเสีย 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) และโรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา ขนาดบำบัดน้ำเสีย 30,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งได้รับงบฯ สนับสนุนในการสร้างจากรัฐบาล โดยสร้างเสร็จในปี 2537 และเสร็จครบทั้ง 7 แห่ง ในปี 2549

 

ต่อมาก็คือแผนแม่บทในปี 2542 ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยอีกครั้ง โดยเสนอให้แบ่งพื้นที่การบำบัดน้ำเสียและจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองให้มากขึ้น โดยในแผนแม่บทจะมีการดำเนินการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียทั้งสิ้น 18 โครงการ ซึ่งเสร็จไปแล้ว 7 โครงการ นอกจากนี้มีการปรับแผนอีกครั้งในปี 2554 ซึ่งในแผนนี้มุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียที่คำนึงถึงภาวะโลกร้อนในมิติต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมก๊าซเรือนกระจกในระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

 

และในช่วงเวลาระหว่างนั้น เราก็จะได้เห็นแนวนโยบายหลักในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียของผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนที่ดำเนินการตามแผนแม่บทเรื่อยมา โดยเฉพาะการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมตั้งแต่ยุค พล.ต. จำลอง ศรีเมือง มาจนถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รวมกับ ‘โครงการรณรงค์’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคของผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะเป็นการห้ามทิ้งขยะลงคลอง เก็บผักตบชวา ฯลฯ และงานประจำอย่างการขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำที่เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สองด้าน คือการระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วม และการระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสีย

 

แต่ถึงอย่างนั้น แนวนโยบายหลักของ กทม. ในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียก็คือการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งตามมาด้วยคำถามที่ว่าสร้างมานานขนาดนี้แล้วทำไมยังแก้ปัญหาน้ำเสียไม่ได้สักที และต้องสร้างเท่าไรถึงจะแก้ปัญหาน้ำเสียได้

 

น้ำเสียมาจากไหน ทำไมถึงไหลลงคลอง และ กทม. บำบัดน้ำเสียได้จริงเท่าไรกันแน่?

น้ำเสีย แบ่งจากแหล่งที่มาได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำเสียจากชุมชน จากโรงงานอุตสาหกรรมและจากการเกษตร โดยน้ำเสียที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการจัดการน้ำเสียของ กทม. และคูคลอง ก็คือน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากอาคารบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ฯลฯ

 

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า คน กทม. ใช้น้ำประปารวม 2,637,009 ลบ.ม./วัน ซึ่งจากนั้นจะกลายมาเป็นน้ำเสียประมาณ 80% หรือ 2,109,607 ลบ.ม./วัน น้ำเสียจากชุมชนเหล่านี้จะถูกส่งไปบำบัดในโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำก่อนจะปล่อยสู่แม่น้ำลำคลอง โดยปัจจุบัน กทม. มีโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา, รัตนโกสินทร์, ช่องนนทรี, หนองแขม, ทุ่งครุ, ดินแดง, จตุจักร และบางซื่อ ซึ่งครอบคลุมการบำบัดน้ำเสียใน 21 เขตของ กทม. และมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 1,112,000 ลบ.ม./วัน 

 

นอกจากนั้น ยังมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดเล็กอีก 12 แห่ง ได้แก่ ทุ่งสองห้อง 1, ทุ่งสองห้อง 2, บางบัว, รามอินทรา, ห้วยขวาง, ท่าทราย, บางนา, บ่อนไก่, คลองเตย, คลองจั่น, หัวหมาก และร่มเกล้า ซึ่งมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 24,800 ลบ.ม./วัน

 

อย่างไรก็ตาม โรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่งนั้น แม้จะมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวมกัน 1,112,000 ลบ.ม./วัน แต่ในความเป็นจริงพบว่า บำบัดได้เพียง 866,414 ลบ.ม./วัน และโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดเล็กอีก 12 แห่ง ที่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวม 24,800 ลบ.ม./วัน ก็บำบัดได้จริงเพียง 14,589 ลบ.ม./วัน รวมแล้ว กทม. สามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงเพียง 881,003 ลบ.ม./วัน หรือ 41.76% ของน้ำเสียในแต่ละวันเท่านั้น เท่ากับว่าวันวันหนึ่ง มีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด 1,228,604 ลบ.ม./วัน หรือ 58.24% ของจำนวนน้ำเสียจากชุมชนเลยทีเดียว

 

ปัจจุบัน กทม. กำลังก่อสร้างโรงควบคุมคุณภาพน้ำเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ มีนบุรี, ธนบุรี, คลองเตย และหนองบอน มีกำหนดเสร็จภายในปี 2565 นี้ โดยจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 670,000 ลบ.ม./วัน

 

จะเห็นได้ว่า แม้ กทม. จะมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดต่อวันอยู่ดี ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าจะยังมีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหลายแสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด ไม่ว่าจะเกิดจากพื้นที่นั้นไม่อยู่ในเขตที่มีระบบบำบัดน้ำเสีย การปล่อยน้ำเสียไม่ผ่านระบบท่อที่จะนำไปสู่การบำบัดน้ำเสีย หรือการสูญเสียน้ำจากท่อระบายน้ำที่จะนำไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย (เช่น ท่อรั่ว) ฯลฯ น้ำเสียเหล่านั้นก็จะไหลสู่แหล่งน้ำอย่างคูคลองจนทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย และแหล่งน้ำผิวดินตามธรรมชาติจนทำให้เกิดมลพิษได้เช่นเดียวกัน

 

ไม่ใช่แค่โรงบำบัดน้ำเสียไม่พอ แต่ระบบท่อรวมคือปัญหาใหญ่ของ กทม. 

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biological Oxygen Demand: BOD) ซึ่งใช้วัดความเน่าเสียของน้ำ โดยหากพบในปริมมาณมาก นั่นหมายถึงน้ำมีความสกปรกสูง จากข้อมูลค่า BOD เฉลี่ยของคลองในแต่ละเขตในปี 2564 จะพบว่าคลองเตยเป็นเขตที่มีค่า BOD สูงสุด 26.33 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ลิตร) ซึ่งคลองเตยมีจำนวนคลองในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 5 คลอง และสำนักงานเขตอีก 4 คลอง มีชุมชน 39 แห่ง และสถานประกอบการอาหารรวม 849 แห่ง รองลงมาก็คือบางรัก มีค่า BOD 25 มก./ลิตร ตามมาด้วยบึงกุ่มมีค่า BOD 23.5 มก./ลิตร 

 

สำหรับเขตที่มีค่า BOD เฉลี่ยจากคลองในเขตต่ำ ได้แก่ บางกอกใหญ่ 6 มก./ลิตร ซึ่งบางกอกใหญ่มีจำนวนคลองในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ 3 คลอง และสำนักงานเขตอีก 10 คลอง มีชุมชน 30 แห่ง และสถานประกอบการอาหารรวม 134 แห่ง ตามมาด้วยทวีวัฒนา มีค่า BOD 6.5 มก./ลิตร และสัมพันธวงศ์, พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย มีค่า BOD เท่ากันที่ 7 มก./ลิตร

 

อย่างไรก็ตาม กทม. กำหนดค่า BOD ไว้ที่ไม่เกิน 15 มก./ลิตร ซึ่งจากมาตรฐานนี้จะพบว่า มีเขตที่มีค่า BOD เกินกว่ากำหนดมีถึง 19 เขต ในขณะเดียวกัน กทม. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดค่า BOD ในคลองใน กทม. ให้ได้ไม่เกิน 4 มก./ลิตร ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่าไม่มีเขตใดที่สามารถทำได้ถึงเป้าหมายนั้นเลย

 

การมีโรงบำบัดน้ำเสียไม่เพียงพอ ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียใน กทม. แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ 

 

และอีกหนึ่งปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาต้นทางของปัญหาน้ำเสียใน กทม. ก็คือการที่ กทม. (แต่เดิม) ใช้ระบบท่อน้ำเสียรวม ไม่แยกระหว่างน้ำฝนกับน้ำทิ้งให้ชัดเจน ทำให้น้ำทิ้งทั้งหมดเข้าสู่ท่อรวบรวมน้ำเสียเพื่อส่งไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำ หากน้ำเสียในท่อรวมมีปริมาณมาก เช่นในหน้าฝน น้ำเสียส่วนเกินจะถูกปล่อยลงคลองที่บ่อดักน้ำเสียใกล้คลอง

 

ปริมาตรน้ำเสียที่เกินกว่าขีดความสามารถในการบำบัดของโรงบำบัดจะผ่านการบำบัดขั้นต้น โดยการแยกกรวดทรายก่อนระบายทิ้งลงคลอง ทำให้น้ำในลำคลองสกปรกยิ่งขึ้น ส่วนน้ำที่ไปบำบัดในโรงควบคุมคุณภาพน้ำก็เป็นไปอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีน้ำฝนที่มีคุณภาพดีกว่าเข้าไปปะปนจนทำให้น้ำเสียเจือจางลง

 

หากมีระบบท่อแยก น้ำฝนจะไหลไปในท่อน้ำทิ้งที่เป็นน้ำฝนและไหลลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งน้ำฝนที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำเสียก็จะไม่เพิ่มความสกปรกให้กับแม่น้ำลำคลอง ขณะเดียวกัน เมื่อไม่ได้นำน้ำฝนและน้ำเสียมารวมกัน ก็ทำให้ปริมาณน้ำในท่อรวบรวมน้ำเสียลดลง ลดโอกาสที่จะต้องปล่อยน้ำเสียส่วนเกินลงคลองก่อนได้บำบัด อีกทั้งการบำบัดน้ำเสียที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากน้ำเสียไม่ถูกเจือจางจากน้ำฝน

 

โดยข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในประเทศไทย จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA นอกจากการสร้างโรงบำบัดน้ำแล้ว ยังรวมไปถึงระบบท่อแยกอีกด้วย ซึ่งตรงกับข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘มาตรการบริหารจัดการน้ำทิ้งจากอาคารในประเทศไทย: ศึกษาแบบอย่างของประเทศญี่ปุ่น’ โดย อวิกา นุ่มนวล จากคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เสนอให้มีการแก้ไขระบบท่อรวมเป็นท่อแยก โดยดำเนินแนวทางตามประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในอดีตนั้นประเทศญี่ปุ่นมีปัญหาน้ำเสียเช่นเดียวกันกับประเทศไทย และหนึ่งในแนวทางการแก้ไขก็คือการสร้างระบบท่อแยกที่ทำให้แม่น้ำในลำคลองหรือคลองระบายน้ำในญี่ปุ่นใสสะอาดดังเช่นทุกวันนี้

 

นอกจากปัญหาเรื่องระบบท่อแล้วยังรวมไปถึงปัญหาระบบกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องน้ำเสียที่มีหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือประกาศหรือข้อบังคับต่างๆ ของ กทม. เอง ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานน้ำเสียก่อนปล่อยไม่สอดคล้องกัน

 

ทำไม กทม. ถึงแก้ปัญหาน้ำเสียล่าช้า

การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในเมืองระดับมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมากและหนาแน่น มีระบบผังเมืองที่เละ ไม่เป็นระเบียบมาช้านาน เป็นงานที่ยากเกินว่า กทม. จะจัดการได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องใช้งบฯ มหาศาล อย่างความพยายามที่จะสร้างโรงควบคุมคุณภาพน้ำที่กินเวลามานานเกือบ 50 ปี ตั้งแต่สมัย อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล

 

จะเห็นว่าโรงบำบัดน้ำเสียที่เสร็จโรงแรกคือสี่พระยา ที่เริ่มเดินระบบในปี 2537 แม้จะเป็นงบฯ ประมาณของ กทม. 100% แต่โรงที่สร้างตามมาหลังจากนั้นเป็นงบประมาณร่วมจากรัฐบาลแทบทั้งสิ้น เนื่องด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบฯ สูง อย่างโรงรัตนโกสินทร์ใช้งบฯ จากรัฐบาล 100% จำนวน 883 ล้านบาท ดินแดง 6,382 ล้านบาท กทม. ออก 25% รัฐบาล 75% หรือช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ กทม. ออก 40% รัฐบาล 60% และจตุจักร คลองเตย กทม. ออก 60% รัฐบาล 40%

 

การขออนุมัติงบประมาณฯ จากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง เพื่อดำเนินการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย (โดยเฉพาะในโครงการที่มีงบฯ สูงกว่า 1 พันล้านบาท) ทำให้มีความล่าช้า ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่แม้จะมีแนวนโยบายสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มจำนวนมาก แต่ก็ต้องรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (หลังจากที่ในยุค อภิรักษ์ โกษะโยธิน ขอไปแล้วไม่อนุมัติ) อย่างเช่นที่คลองเตย ซึ่งต้องใช้เงินสูงถึง 11,046 ล้านบาท

 

นี่ยังไม่ต้องคิดถึงว่าหากในอนาคต กทม. จะยกเครื่องระบบท่อน้ำรวม (เดิม) ของตนเองให้เป็นระบบท่อแยก ตามแนวทางการศึกษาและแนะนำจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะต้องใช้เงินมหาศาลที่ต้องพึ่งพางบฯ จากรัฐบาลกลางแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกนานแค่ไหนไม่มีใครทราบได้

 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังเห็นว่า กทม. พยายามจะปรับปรุงคุณภาพของคลองใน กทม. โดยโครงการ ‘การปรับภูมิทัศน์’ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง เพื่อจุดประสงค์ทางการท่องเที่ยว ด้วยงบฯ จากทางรัฐบาลและ กทม. รวม 400 ล้านบาท ในระยะทาง 700 เมตร คลองช่องนนทรี กับงบฯ ของกทม. เองกว่า 980 ล้านบาท ที่เน้นโครงสร้างด้านบนเพื่อความสวยงามและการพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าเรื่องการบำบัดน้ำเสีย โดยจากข้อมูลจะเห็นว่า ค่า BOD ของคลองเฉลี่ยในเขตสาทรนั้นไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีค่า BOD เฉลี่ยอยู่ที่ 18.86 มก./ลิตร

 

และในอนาคตอันใกล้ กทม. ก็มีโครงการพัฒนาคลองผดุงกรุงเกษม ที่ใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนการปรับภูมิทัศน์กว่าร้อยล้านบาท โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิมด้วยงบฯ 200 ล้านบาท โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธอีก 64 ล้านบาท 

 

ในขณะที่คลองแสนแสบนั้นมีปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างหนัก ซึ่งในปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลบ.ม./วัน มีค่า BOD เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6.9-12.2 มก./ลิตร การฟื้นฟูคลองแสนแสบนั้นรัฐบาลกลางลงมาเป็นเจ้าภาพ โดยได้อนุมัติงบฯ 82,563.87 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (2564-2574) รวม 84 โครงการ

 

โดยเมื่อปี 2564 จะสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่ กทม. 1 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน ส่วนปี 2565-2570 จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ กทม. อีก 5 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 661,000 ลบ.ม./วัน และปี 2571-2574 จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ กทม. 5 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 597,000 ลบ.ม./วัน

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียใน กทม. นั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนทั้งเรื่องผังเมือง โรงบำบัดน้ำเสีย ระบบท่อรวบรวมน้ำ งบประมาณ การดำเนินการ รวมไปถึงการบริหารจัดการของกรุงเทพฯ เอง อีกทั้งยังมีเรื่องการขาดความรับผิดชอบของประชาชนที่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำลำคลอง

 

มากไปกว่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียใน กทม. เป็นโจทย์ที่จะต้องตั้งคำถามดีๆ ว่าเราต้องการคลองที่สวยใสเพื่อไปเดินเล่นถ่ายรูป หรือระบบการระบายน้ำ การกำจัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพกันแน่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X