เป็นที่ทราบดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน อัตราการเกิดในประเทศญี่ปุ่นลดลงติดต่อกันถึง 37 ปี ขณะที่จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 หรือ 20% ของประชากรทั้งประเทศ วัยแรงงานที่เข้าสู่ตลาดมีน้อยลงจนกระทบกับภาคธุรกิจ
ล่าสุด คาซุกิ ฟุรุยะ ประธานบริษัท Seven-Eleven Japan Co., Ltd. แถลงแผนทดลองลดเวลาให้บริการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องจากบรรดาผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยจะให้บริการจาก 24 ชั่วโมงเป็น 16 ชั่วโมงในช่วงตั้งแต่ 7.00-23.00 น. เริ่มทดลอง 10 สาขาใน 8 จังหวัด ได้แก่ โตเกียว มิยางิ โทจิงิ ชิบะ ไอจิ เฮียวโงะ ฟุกุโอกะ และคุมาโมโตะ
ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น เครือข่ายร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ที่มีถึง 2 หมื่นสาขาให้ข้อมูลกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า ถ้าแผนทดลองเป็นไปในทิศทางที่ดี ก็เป็นไปได้ที่จะขยายแผนการนี้ไปใช้กับสาขาอื่นๆ ในญี่ปุ่น และอาจปรับใช้กับเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน
นักวิเคราะห์ในวงการธุรกิจมองว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมากแล้ว อีคอมเมิร์ซเข้ามาตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการใช้บริการร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงของผู้บริโภคเองก็ลดลง โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากอย่างญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากหลายทศวรรษก่อนที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงเติบโตเพื่อรองรับวัฒนธรรมการทำงานหามรุ่งหามค่ำ และงานกะดึกของคนญี่ปุ่นในยุคก่อน ขณะที่ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมทั้งตัวเซเว่น อีเลฟเว่นเอง ก็อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการทำงานอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำมาทดแทนแรงงานคนในกระบวนการต่างๆ อยู่แล้ว บทบาทของแรงงานคนและความต้องการใช้บริการจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์