×

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและภาคประชาชนร้อง กมธ.ที่ดิน ย้ำไม่ควรเหมาเข่งเพิกถอนพื้นที่ทับลาน

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (11 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา พสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช ตัวแทนสมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วย ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือต่อ พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 

 

ภานุเดชกล่าวว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกไป แต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการพยายามนำประเด็นดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ดำเนินการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานใหม่ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่อยู่มาไม่เกินปี 2557 ตามประกาศอุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ได้มีการผ่อนปรนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ว่ากลุ่มที่มีพื้นที่แสนกว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการติดตามการดำเนินคดีการตรวจสอบ หลายๆ แปลงอยู่ในระหว่างคำพิพากษาของศาลอยู่ 

 

“ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเหมาเข่งกลุ่มประเด็นปัญหาทั้ง 3 พื้นที่มารวมกัน แล้วเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมผู้ที่อาจทำผิดในพื้นที่ตรงนี้ และทำให้กระบวนการในการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบกระเทือนทั่วประเทศ” ภานุเดชกล่าว

 

นอกจากนี้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งการเพิกถอนพื้นที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผืนป่า สัตว์ และคุณค่าความสำคัญของความเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน ซึ่งหากกลไกในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้เป็นกลไกที่ไม่ชอบธรรม ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีหรือเป็นตัวอย่างที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป จึงอยากที่จะขอให้ช่วยติดตามตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

 

ด้านพสิษฐ์กล่าวว่า จุดประสงค์ที่มายื่นหนังสือคัดค้านการปรับปรุงแนวเขตทับลาน เนื่องจากในปี 2524 เราได้สำรวจรังวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากออกโฉนดอาจจะขายให้นายทุนและบุกรุกที่ดินไปเรื่อยๆ รวมถึงขอให้มีการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งหากทำงานจริง ไม่เห็นแก่ใคร มั่นใจว่าจะพิสูจน์ได้ว่าคนได้โฉนดเป็นคนจนจริงๆ 

 

ขณะที่พูนศักดิ์กล่าวว่า ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง เพื่อให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ อาทิ สคทช., สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

 

ด้าน เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการฯ กล่าวเสริมว่า กรณีนี้มีทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้ #Saveทับลาน และประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงเส้นแนวเขตนี้ กรรมาธิการฯ จึงจะรับมาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลายและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับทางข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ว่า ‘จะต้องไม่เหมาเข่ง’

 

“จะต้องมีการสแกนชาวบ้านที่อยู่มาก่อน เขาควรได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ ในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่มาก่อนควรจะได้รับการออกเอกสารสิทธิ ส่วนกลุ่มที่มาอยู่ทีหลังแต่ก่อนปี 2557 ที่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาลก็ควรเข้าสู่กระบวนการ” เลาฟั้งระบุ

 

เลาฟั้งกล่าวด้วยว่า ส่วนการคุ้มครองพื้นที่ที่มีการบุกรุกก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งรวมไปถึงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ กลุ่มนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิหรือสิทธิการครอบครอง ที่แม้อาจจะมีการเปลี่ยนมือ แต่ก็จะต้องเป็นการใช้เพื่อการเกษตร หากถือครองผิดเงื่อนไข จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ยึดคืนมาเป็นของรัฐ 

 

อีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การมีข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจในการออกเอกสารสิทธิให้แก่กลุ่มนายทุนโดยไม่ชอบ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นเดียวกัน หากไม่ทำเช่นนี้จะสาวไม่ถึงต้นตอของปัญหา แล้วผลกระทบก็จะตกมาถึงประชาชน เรื่องนี้มีทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้นกรรมาธิการฯ จะรับมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ นำข้อมูลจากทุกฝ่ายมารับฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X