×

IMF ชี้ การกำหนด ‘ราคาคาร์บอน’ คือลางบอกเหตุที่ย้ำว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซกำลังเปลี่ยนแปลง

04.12.2023
  • LOADING...
การปล่อยคาร์บอน

คริสตาลินา จอร์จีวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แสดงความเห็นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ธันวาคม) ย้ำถึงกรณีการหารือเรื่องการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP28 ว่า บรรดาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่างตระหนักถึง ‘ลางบอกเหตุ’ (The Writing on the Wall) ที่จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของทั้งอุตสาหกรรม 

 

กรรมการผู้จัดการ IMF ในฐานะผู้ที่สนับสนุนแนวทางการกำหนดราคาคาร์บอนมาอย่างยาวนานกล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษลดการปล่อยคาร์บอนอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับการกำหนดราคาคาร์บอน หรือ Carbon Pricing เป็นการยืนยันระดับราคาต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่าและยืดหยุ่นที่สุดในการลดมลพิษดังกล่าว

 

เมื่อไม่นานมานี้ทาง IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เกณฑ์ราคาคาร์บอนว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อตันภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 75 ดอลลาร์ต่อตัน 

 

ขณะที่เกณฑ์ราคาในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งทางจอร์จีวาระบุว่า เป็นความท้าทายที่ทั่วโลกจะต้องจับมือร่วมกันในการเดินหน้าผลักดัน พร้อมย้ำว่า IMF รัฐบาลทั่วโลก และเครือข่ายพันธมิตร จะทำให้ผู้ปล่อยก๊าซจำนวนมากยอมรับว่าจำเป็นต้องเร่งการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดราคาคาร์บอน 

 

กรรมการผู้จัดการ IMF ได้อธิบายเหตุผลของความจำเป็นในการมี Carbon Pricing โดยชี้ว่า หากไม่มีราคาคาร์บอน การลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนจะไม่เกิดขึ้นเร็วพอ และอีกเหตุผลต่อมาก็คือ พลังการทำลายล้างของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในขณะนี้กำลังเร่งรัดให้ประเทศทั้งร่ำรวยและยากจนตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องลงมือปฏิบัติให้ดีที่สุด 

 

ความเห็นของจอร์จีวามีขึ้นในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางธุรกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดโดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ 

 

รายงานระบุด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งดำเนินการด้านสภาพอากาศ ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเดินหน้าบันทึกปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์และในขณะที่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบไปทั่วโลก

 

สำหรับ IMF การประชุม COP28 ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ในการประเมินนโยบายที่จูงใจให้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกครั้ง โดยมีรายงานว่า ปริมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ดังนั้นทั่วโลกจำเป็นต้องทยอยยกเลิกมาตรการดังกล่าวและแทนที่ด้วยมาตรการทั้งจูงใจและบังคับ โดยหนึ่งในนั้นคือ Carbon Pricing ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง ก่อนยกตัวอย่างกรณี Emissions Trading System ของทางสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถสร้างรายได้ให้กับ EU ถึง 1.75 แสนล้านยูโร และสร้างความเป็นธรรมด้วย เพราะผู้ที่สร้างมลพิษมากก็ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ ขณะที่ผู้ที่สร้างมลพิษน้อยก็จ่ายน้อยลง โดยเงินที่จัดเก็บได้ส่วนหนึ่งก็สามารถเอาไปสนับสนุนให้กับกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคมต่อไปได้ 

 

ขณะเดียวกันสำหรับบทบาทของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการประชุม COP28 รวมทั้งวิธีที่จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันทั้งหลาย (Big Oil) หันมาสนับสนุนแนวทางการกำหนดราคาคาร์บอน จอร์จีวากล่าวว่า วิธีการก็คือการตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงแนวทางการทำธุรกิจ เนื่องจากรายงานที่นำมาเปิดเผยในการประชุม COP28 แสดงให้เห็นถึงลางบอกเหตุของอนาคตที่การบริโภคน้ำมันและก๊าซจะค่อยๆ ทยอยลดลง ขณะที่บรรดาชาติที่เข้าร่วมการประชุมต่างก็ให้คำมั่นในการเร่งหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นจำนวน 3 เท่าจากปัจจุบันในปีหน้า 

 

โดยขณะนี้เริ่มมียักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันและก๊าซที่ต่างปรับตัวแตกไลน์ขยายสาขาธุรกิจที่ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซมากขึ้น ซึ่งกรรมการผู้จัดการ IMF ชี้ว่า เป็นทิศทางบวกสำหรับ Carbon Pricing 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X