ผู้ว่า ธปท. ชี้ไทยไม่จำเป็นต้อง ขึ้นดอกเบี้ย แรง เพราะอยู่ในวงล้อเศรษฐกิจที่แตกต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ห่วงภาวะ Stagflation หลังเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นชัดเจน-เงินเฟ้อส่อกลับเข้าสู่กรอบในปีหน้า
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี โดยระบุว่า สาเหตุที่ กนง. มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% เป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวและอาจต้องใช้เวลาถึงปลายปีนี้เพื่อกลับสู่ระดับก่อนโควิด
“เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในวงล้อที่แตกต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างรุนแรง โจทย์ของประเทศเหล่านั้นคือ Soft Landing ขณะที่โจทย์ของไทยคือ Smooth Takeoff เพราะเรายังอยู่ในช่วงฟื้นตัว การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจึงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะเข้าสู่จุดสูงสุดในไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาส 4 และกลับมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ในปีหน้าจากแรงกดดันด้านอุปทานที่คลี่คลายลง
“เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง เดือนล่าสุดก็ยังอยู่ที่ 7.6% แต่เรายังไม่เห็นแรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์ เงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านอุปทาน” เศรษฐพุฒิกล่าว
เมื่อถามว่ามีความกังวลเรื่อง Stagflation หรือไม่ เศรษฐพุฒิระบุว่า หากพิจารณาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีแรงส่งชัดเจนขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8 ล้านคนในปีนี้ และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะปรับดีขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูงหรือ Stagflation ยังมีค่อนข้างต่ำ
“หากไม่มีการกลายพันธุ์ของโรคระบาดที่รุนแรงจนกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยมีภาคท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดจากการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดย ธปท. ยังไม่พบกระแสเงินทุนไหลออกที่ผิดปกติและส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย
เศรษฐพุฒิระบุว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ธปท. พิจารณา แต่ไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญที่สุด ปัจจุบันไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ไม่มีเป้าหมายว่าค่าเงินจะต้องอยู่ที่ระดับใด ขณะเดียวกันไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งระดับทุนสำรอง หนี้ต่างประเทศที่ต่ำ
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่จะมีต่อลูกหนี้กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ เศรษฐพุฒิระบุว่า ธปท. มีมาตรการและเครื่องมือสำหรับให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องและมาตรการเฉพาะจุดอื่นๆ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP