ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ย้ำปัญหาค่าเงิน 85% มาจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ภายในอีก 15% เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ต้องตรงจุด เพื่อผลในระยะยาว ยืนยันพร้อมเข้าดูแลค่าเงินเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง
การกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีบางช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ มาเคลื่อนไหวที่ราวๆ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 ปี จนสร้างความไม่สบายใจแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มส่งออก เนื่องจากคาดหวังกันว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นพระเอกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นค่าเงินบาทจึงไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแข็งค่าของเงินบาท เพราะเข้าใจดีว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง จึงไม่อยากให้เรื่องค่าเงินบาทมาเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“เรื่องค่าเงินเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดูแลมาตลอด และไม่ได้มากังวลแค่ช่วงนี้ แต่เรากังวลทุกครั้งที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ซึ่งพวกนี้เป็นอะไรที่เราใส่ใจมาตลอด สะท้อนผ่านการออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาดูแล”
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 85% เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งในจำนวนนี้ 60% มาจากการเคลื่อนไหวของเงินสกุลหลักของโลก อีก 25% มาจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่เหลืออีก 15% มาจากปัจจัยเฉพาะของเราเอง
“ความหมายคือค่าเงินสกุลหลักใหญ่ เช่น ดอลลาร์ ถ้าเขาอ่อนค่าลงก็จะทำให้เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าระยะหลังเงินบาทที่แข็งค่ามาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าสกุลเงินในภูมิภาคก็แข็งค่าเหมือนกันหมด เช่น เงินหยวนแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี หรือเงินวอนเกาหลีใต้ก็แข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี สะท้อนว่าปัญหานี้เจอกันทุกคน โดยเกิดจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง”
เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำว่า ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และที่ผ่านมาก็พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาดูแล แต่การจะทำมาตรการใดๆ จำเป็นต้องดูผลข้างเคียงของมาตรการนั้นๆ ด้วย เพราะในอดีตก็เคยมีให้เห็นแล้วว่าการออกมาตรการที่มีความรุนแรงมากเกินไปผลกระทบข้างเคียงเป็นอย่างไร
ส่วนเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขันจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้น เศรษฐพุฒิชี้ให้เห็นว่า ความสามารถการแข่งขันไม่ได้ขึ้นกับค่าเงินเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าแรงไปจนถึงต้นทุนการผลิต หรือแม้แต่ประสิทธิภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมานานแล้วในประเทศไทย
“เราจะเห็นว่าในอดีตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีมากจนเวียดนามไม่เห็นฝุ่นเราเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเขาแซงเราไปอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องพวกนี้สะท้อนว่าปัญหาที่เราเจอจากค่าเงินเป็นอะไรที่ไม่ได้เจอเฉพาะเรา แต่เป็นผลจากปัจจัยภายนอก ส่วนการจัดการที่เราพอจะทำได้ก็มีจำกัด”
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินแม้ 85% มาจากปัจจัยภายนอก อีก 15% เป็นเรื่องของเราเอง แต่เวลาที่เงินดอลลาร์อ่อนแล้วค่าเงินบาทแข็ง เรามักเห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่มากกว่าคนอื่น หรือเวลาจะอ่อนค่าก็มักจะอ่อนน้อยกว่าคนอื่น สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะภายในของเราเอง
เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อพูดถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คนมักนึกถึงการส่งออกที่มากกว่าการนำเข้า แต่ในอีกมิติคือการลงทุนของไทยมีค่อนข้างน้อย ทำให้เรามียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งกรณีนี้ในประเทศอื่นจะใช้วิธี ‘รีไซเคิล’ หรือ หมุนเงินออกไป ผ่านการผลักดันให้ไปลงทุนในต่างประเทศ
“กรณีของเกาหลีใต้และไต้หวัน เขาก็เจอปัญหาคล้ายๆ เรา แต่ของเขาสามารถระบายเงินออกไปได้ดีกว่าเรา โดยของเขานักลงทุนสถาบันรายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทประกันหรือกองทุนบำนาญต่างๆ มักจะออกไปลงทุนต่างประเทศกัน แตกต่างกับไทยที่ยังมีลักษณะ Home Bias ยังไม่ค่อยกล้าไปลงทุนต่างประเทศ หรือไปก็มักจะทำ Hedging ค่าเงินไว้ ซึ่งไม่ได้ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนลง”
ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของโครงสร้าง การแก้ปัญหาก็ต้องไปดูที่โครงสร้าง แน่นอนว่าผลระยะสั้นอาจไม่ทันใจ แต่ถ้าเราไม่ลงมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ในอนาคตเราก็จะเจอกับปัญหาเดิมๆ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เริ่มทำไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนออกไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น หรือให้สามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่นักลงทุนต่างชาติหากจะเข้ามาลงทุนในประเทศก็ต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นใครมาจากไหน
สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินอื่นๆ เศรษฐพุฒิกล่าวยืนยันว่า ทาง ธปท. ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่การนำมาใช้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสีย ตลอดจนผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนอยากเห็นการออกมาตรการที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่ทุกมาตรการก็จะมีผลข้างเคียงในตัวเอง ดังนั้น ธปท. จำเป็นต้องศึกษาและชั่งน้ำหนักให้ดี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า