ผู้ว่าการ ธปท. ปฏิเสธจัด กนง. นัดพิเศษเพื่อหั่นดอกเบี้ย ยืนยันเศรษฐกิจไทย ‘ไม่วิกฤต’ ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงวัฏจักรที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายการเงิน
Nikkei Asia เผยบทความสัมภาษณ์พิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์) โดยระบุว่า ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่าไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น (Not Dogmatic) ว่าจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.5% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ พร้อมยืนยันว่าปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงวัฏจักรที่เศรษฐกิจไทยเผชิญในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายการเงิน
“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า” เศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้ แรงกดดันจากรัฐบาลต่อธนาคารกลางที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดขึ้นในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยติดลบ 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบก็เกิดจากการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว
ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตนกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ามีความ ‘เป็นมืออาชีพ’ และ ‘จริงใจ’ แต่ปฏิเสธเห็นตรงกับนายกฯ ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ‘วิกฤต’
“การฟื้นตัว (เศรษฐกิจไทย) ยังอ่อนแอ แต่ก็ยังมีอยู่และกำลังดำเนินต่อไป” เศรษฐพุฒิกล่าว
แม้แรงกดดันจากรัฐบาลทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า “ความตึงเครียดครั้งนี้เป็นความตึงเครียด ‘เชิงสร้างสรรค์’ ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากการสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันไม่ได้ เพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย”
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะไม่แทรกแซงความอิสระของธนาคารกลาง แต่ได้สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตลอดว่าต้องการให้แบงก์ชาติเห็นใจประชาชนที่กำลังประสบปัญหา
โดยผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า “พวกเขา (ประชาชน) กำลังประสบกับความเจ็บปวดอย่างมาก เพราะรายได้ไม่เติบโตตามที่เราต้องการ แต่เรารู้สึกว่าวิธีที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นคือการใช้มาตรการที่ตรงเป้าหมาย”
สำหรับประเด็นหนี้ครัวเรือน เศรษฐพุฒิตอบว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน กระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง “ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในการพยายามลดการก่อหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
อ้างอิง: