ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวเรื่องรัฐบาลกำลังพิจารณาเก็บภาษีจากการขายหุ้นของนักลงทุนที่ทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.11% นั้น ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่สามารถระบุถึงผลกระทบได้เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เองได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากให้ประเมินผลกระทบเบื้องต้น การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวก็จะทำให้ต้นทุนซื้อขายหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้นและแนะนำให้นักลงทุนติดตามข้อมูลและความชัดเจนอย่างใกล้ชิด
สำหรับแนวโน้มเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในครึ่งหลังปี 2564 จะมีความผันผวนตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาและเงินเฟ้อ ซึ่งตัวชี้วัดแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนทั่วโลกติดตามโดยตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับตัวแปรทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ดังที่กล่าว นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศคือตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีผลต่อมุมมองนักลงทุนทั่วโลก เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 10 ปี
ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่จะมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนคือความสามารถในการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยที่ผ่านมา หลายบริษัทมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่จริงจังและเป็นแผนรับมือแบบระยะยาว ซึ่งหากเชื่อมโยงไปกับต่างประเทศได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทนั้นๆ
“ในช่วงต้นปีจะเห็นว่าตัวเลขการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเป็นการซื้อสุทธิ แต่เมื่อประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอก 3 เม็ดเงินลงทุนก็ไหลออก ซึ่งครึ่งปีหลังก็จะเคลื่อนไหวลักษณะนี้ แต่บริษัทที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็มี คือกลุ่มที่ส่งออกหรือเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ”
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ลดลง 0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
ในเดือนมิถุนายน 2564 หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์บางกลุ่มที่สูงกว่าผลการดำเนินงานในอดีตค่อนข้างมาก ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลพื้นฐานเป็นรายหลักทรัพย์และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ MAI ช่วงเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 97,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,947 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 77,817 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 111,278 ล้านบาท นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนมิถุนายน 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน MAI หนึ่งบริษัท โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน
Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 19.0 เท่า และ 29.8 เท่า ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า และ 22.4 เท่า ตามลำดับ
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 2.34% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.24%
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น