ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย อยู่ระหว่างศึกษาการออกกฎเกณฑ์ใหม่เพิ่ม เพื่อทำให้หุ้นในตลาดสะท้อน ‘ดีมานด์-ซัพพลาย’ ที่แท้จริงมากขึ้น แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ขอศึกษาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบภาพรวม ด้าน ‘ก้องเกียรติ’ เสนอให้ถอดหุ้น DELTA ออกจาก SET50-SET100 เหตุมี Valuation สูงผิดปกติ
ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเตือนผู้ลงทุนให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ก่อนเข้าซื้อขายในหลักทรัพย์หุ้น DELTA จากการติดตามสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA อย่างต่อเนื่อง พบว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนมาปิดที่ระดับสูงสุด (New All Time High) ที่ 1,100 บาท มูลค่าซื้อขายสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 5,871 ล้านบาท ด้วยค่า P/E ที่ 89.42 เท่า และ P/BV ที่ 25.09 เท่า
โดยในช่วงหลังปิดการซื้อขาย DELTA ชี้แจงสารสนเทศผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วว่ายังไม่มีพัฒนาการใดสำคัญที่ยังไม่ได้เปิดเผย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน ความเสี่ยง และสารสนเทศที่เปิดเผยผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขาย ขณะที่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 พุ่งขึ้นไปทำปิดที่ New All Time High อีกครั้งที่ 1,142 บาท
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาศึกษาการออกกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึงวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อทำให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ สะท้อน (Reflect) ดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริงมากขึ้น และเพื่อให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในลักษณะแบบนี้เกิดได้ยากขึ้น โดยปัจจุบันมีการศึกษาอยู่ในหลายแนวทาง
สำหรับกรอบเวลาในการได้ข้อสรุปในการออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ดังกล่าว ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพราะยังอยู่ในช่วงของการศึกษา รวมทั้งยังต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ภาพรวมของทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกผลกระทบไปด้วย จากประเด็นที่เกิดขึ้นจากหุ้นเพียง 1 บริษัท
“ตอนนี้กำลังดูวิธีหรือกฎเกณฑ์ใหม่อยู่ หากมี Solution ออกมาก็จะทำการ Market Hearing กันต่อไป จริงๆ แล้วเมื่อหลายปีก่อนก็เคยมีปัญหาหุ้นขนาดใหญ่บางบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจากหุ้นละ 10 บาท เป็น 100 บาท ภายในสัปดาห์เดียวมาแล้ว ดังนั้นเราต้องหาวิธีการแก้ไขในอนาคตให้ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่สามารถประกาศกฎเกณฑ์ได้ทันที เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งผู้ร่วมตลาด นักลงทุน รวมถึงหน่วยงานกำกับด้วย หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ในอดีตมีหุ้นที่มีลักษณะคล้ายกับหุ้นของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) คือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ซึ่งมี Free Float ที่ต่ำเพียงประมาณ 3% โดยในเดือนมกราคม 2558 ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ กล่าวคือใน 1 สัปดาห์ราคาหุ้น BAY ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับหุ้นละ 100 บาท จากหุ้นละ 30-40 บาท โดยความเคลื่อนไหวของราคาครั้งนั้น สาเหตุมาจากกระแสข่าวลือว่า ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จะซื้อหุ้น BAY เพิ่มเติมจากกลุ่มรัตนรักษ์ และจะเพิกถอน BAY ออกจากตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นาน BAY ก็ออกมาปฏิเสธข่าวลือนั้น และหลังจากนั้นราว 3-4 เดือน ราคา BAY ก็ทยอยไหลลงกลับสู่ระดับปกติที่ 30-40 บาท อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการออกเกณฑ์ใหม่ใดๆ มาเพิ่มเติม
สั่ง DELTA ขังกรง Cash Balance
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 1: ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ถึง 21 เมษายน 2566
โดยนักลงทุนต้องวางเงินสดทั้ง 100% ก่อนสั่งซื้อหุ้น ได้แก่
- หุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA
- หุ้น บมจ.อิทธิฤทธิ์ ไนซ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ ITTHI
สำหรับหุ้น DELTA ที่ถูก Cash Balance หลังจากราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวในช่วงสัปดาห์ก่อนช่วงระหว่างวันที่ 27-31 มีนาคม 2566 ที่ร้อนแรงผิดปกติ ดังนี้
- วันที่ 27 มีนาคม ปิดที่ 992 บาท ติดลบ 0.20%
- วันที่ 28 มีนาคม ปิดที่ 978 บาท ติดลบ 1.41%
- วันที่ 29 มีนาคม ปิดที่ 1,006 บาท บวก 2.86%
- วันที่ 30 มีนาคม ปิดที่ 1,100 บาท บวก 9.34%
- วันที่ 31 มีนาคม ปิดที่ 1,142 บาท บวก 3.85%
‘ก้องเกียรติ’ แนะถอด DELTA ออกจาก SET50-SET100
ด้าน ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ ASP ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Money Chat ว่า ปัญหาหุ้นของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) คือมีจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ น้อย มีสัดส่วนหุ้นที่ถือโดยนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ที่ต่ำ ส่งผลให้สามารถใช้เงินลงทุนจำนวนที่ไม่มากเพื่อกำหนดการเคลื่อนราคาขึ้นให้ขึ้น-ลงได้ไม่ยาก
ขณะที่ราคาหุ้น DELTA ที่ขึ้นมาต่อเนื่องในขณะนี้ถือว่า Valuation ที่แพงมาก ทำให้มี Price to Book Value (P/BV Ratio) ขึ้นมาที่ระดับ 22 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะที่หากดูผลประกอบการปี 2565 ของ DELTA จะมี P/E Ratio อยู่ที่ประมาณ 79 เท่า ส่วนผลประกอบการปี 2566 ของ DELTA จะมี P/E Ratio อยู่ที่ประมาณ 73 เท่า สะท้อนว่ามีอัตราการเติบโตของผลประกอบในปีนี้ที่ไม่สูงมากต่ำกว่า 10%
จากข้อมูลและลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนหุ้น DELTA อาจได้ใจในการลงทุนจากการทำกำไรในช่วงขาขึ้น เพราะแนวโน้มที่ผ่านมาส่วนใหญ่ราคาหุ้นจะเป็นขาขึ้นมากกว่าลง อย่างไรก็ตาม หากหุ้น DELTA มี Free Float เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้เห็นสถานการณ์ดังกล่าวอีกต่อไป
ดังนั้น มีความเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีสถิติข้อมูลของหุ้น DELTA เก็บไว้อยู่แล้ว หากเห็นว่าหุ้นมี Valuation ที่สูงหรือต่ำเกินไปก็สามารถปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ได้ โดยในกรณีที่เปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นโลกแล้วเห็นว่ามี Valuation สูงผิดปกติ ก็สามารถตัด DELTA ออกจากการคำนวณดัชนีใน SET50 กับ SET100
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หุ้น DELTA ทะลุ 1,000 บาท ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1.26 ล้านล้านบาท สูงกว่าบริษัทแม่ที่ไต้หวันเกือบ 50%
- ‘DELTA’ มาร์เก็ตแคปขึ้นเบอร์ 1 เป็นครั้งแรก ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท โค่นแชมป์เก่า AOT หลังกลับติด SET50 ดันราคาหุ้น All Time High
- หุ้นเดลต้า พุ่งเฉียด 700 บาท นิวไฮรอบ 1 ปี และอาจป่วนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โบรกเตือนราคาพุ่งเกินพื้นฐานแม้กำไรเติบโตได้จริง