ด้วยสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลอย่างเห็นได้ชัด จุดกระแสให้ภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเรา ตื่นตัวลุกขึ้นมามีส่วนร่วมแบ่งเบาและแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการดีๆ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นและน่าจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสามารถนำบทเรียนจากการดำเนินงานและโมเดลไปปรับใช้ ขยายผลให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยสามารถเข้ามามีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดดเด่นและน่าชื่นชม ซึ่งที่ THE STANDARD อยากจะบอกเล่าแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันก็คือ ‘โครงการ Care the Whale: ขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า’ ซึ่งบุคคลที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของโครงการดีๆ นี้ให้เราฟังกันก็คือ นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
SET Social Impact Platform
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
“จริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำกันอยู่นั้นเรียกว่าเป็น SET Social Impact Platform ซึ่งเราใช้คอนเซปต์ง่ายๆ ว่า เป็น Impact Multiplier คือเป็น ‘ตัวคูณ’ หรือเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคม สามารถมาเจอกันบนแพลตฟอร์มแห่งความร่วมมือนี้ เพื่อที่จะทำงานร่วมกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืน
นพเก้า สุจริตกุล
ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“โครงการ Care the Whale นั้นดำเนินงานมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ถามว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงสนใจทำโครงการเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คงต้องเล่าก่อนว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายทำงานเพื่อพัฒนาสังคมมาโดยตลอด ในช่วงแรกๆ นั้นเราเริ่มจากการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ติดมากับตลาดทุนและการเงิน การที่ผู้ลงทุนจะเข้ามาลงทุนหรือบริหารเงินออมในหุ้น หรือคนจะระดมทุน ก็ต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน ก็เลยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวแบบนี้ก่อน ต่อมาจึงพัฒนาขึ้นเป็นเรื่องของธรรมาภิบาลสักในช่วง 20 ปีก่อนหน้า และทำเรื่องของ CSR (Corporate Social Responsibility) มากขึ้นในช่วง 10 ปีให้หลัง จนสังเกตได้เลยว่า ทุกองค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างทำเรื่องเหล่านี้อยู่ และเราก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเมื่อคำว่า ‘Sustainability’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ เข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งเมื่อพูดถึงคำนี้ย่อมมีทั้งบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะที่เป็นภาคธุรกิจ จึงคิดหาหนทางที่จะผลักดันในเรื่องดังกล่าว นั่นคือจุดเริ่มต้นซึ่งถือเป็นพันธกิจของเราในเรื่องสิ่งแวดล้อม โครงการ Care the Whale จึงได้ถือกำเนิดขึ้น”
สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า
โดยความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์ฯ วัดจากแดง และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
นับเป็นการขยายผลสู่ชุมชนของโครงการ Care the Whale
นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการ Care the Whale ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก มีองค์กรภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นที่นี้รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้าน Circular Economy ธุรกิจเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและภาครัฐกว่า 30 แห่ง ร่วมกันออกแบบและขับเคลื่อนโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (UN SDGs 13 Climate Action) ภายใต้แนวคิด ‘ขยะล่องหน’
“เครื่องมือหลักๆ ที่เราใช้คือสูตรคำนวณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเห็นผลลัพธ์ชัดๆ ของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมทิ้งขยะไปเท่าไร คำนวณออกมาเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไร ดังนั้นเราเลยทำสูตรคำนวณขึ้นมาให้คนที่อยู่ในตลาดทุน เช่น บริษัทจดทะเบียน, บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สามารถเข้ามาใช้สูตรคำนวณนี้ได้อย่างง่ายๆ โครงการ Care the Whale โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทเป็นคนบริหารจัดการ หรือ Facilitator สมมติว่ามีองค์กรหนึ่งอยากจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เราก็จะทำเครื่องมือร่วมกันสำหรับองค์กรนั้น เช่น ถ้าเขาเป็นโรงพยาบาลแล้วจะเป็น Green Hospital แบบไหน หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการด้านการเงินสามารถจะเป็น Green Finance แบบไหนได้บ้าง เราก็จะพูดคุยร่วมกัน หาโมเดลว่าเขาสามารถทำในบริบทของเขาเองได้อย่างไร รวมถึงหาเครื่องมือที่เขาจะสามารถนำไปใช้ได้ ตลอดจนเป็นทั้งตัวกลางในการจับคู่ อย่างองค์กรของคุณมีขยะแบบนี้เยอะมากเลย แล้วมีองค์กรไหนสนใจนำไปทำอิฐตัวหนอน เราก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางจ่ายความร่วมมือไปยังพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อที่เขาจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในบริบทของแต่ละองค์กรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”
สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า
โมเดลและเครือข่าย Care the Whale ‘ขยะล่องหน’ ระดับชุมชน
หลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับองค์กรภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่บนย่านถนนรัชดาและย่านอื่นๆ อย่างพระรามสี่แล้ว เมื่อไม่นานมานี้โครงการ Care the Whale ยังได้ขยายผลไปสู่ชุมชน โดยครั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ร่วมกับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ริเริ่ม ‘สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า’ เข้าถึงประชากรกว่า 40,000 คน 13,200 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางกะเจ้า, ตำบลบางกอบัว, ตำบลบางน้ำผึ้ง, ตำบลบางกระสอบ, ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง จังหวัดสมุทรปราการ
‘เก็บ แยก แลก จ้า’
ชวนชาวชุมชนคุ้งบางกะเจ้าเก็บทำความสะอาด คัดแยกขยะ เพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภค นำขยะมา Recycle ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม
“ครั้งนี้เราต่อยอดโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนภายในชุมชน ออกแบบให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ให้คนในชุมชนสามารถเก็บรวบรวม คัดแยก และนำขยะมาสะสมแต้ม เพื่อแลกของใช้อุปโภคบริโภคจาก บมจ.สหพัฒนพิบูล นำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และ Up Cycling นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์กลับคืนสู่ชุมชน เช่น ขยะผ้าก็นำกลับไปทำอิฐตัวหนอน, ถุงแกงนำกลับไปทำเป็นน้ำมันได้, ขวดขุ่นก็นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ หรือขวดพลาสติกใส PET ก็นำไปทำเป็นจีวรหรือเป็นผ้าได้ ฯลฯ”
เมื่อถามว่าตลอดระยะเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่เริ่มดำเนินโครงการมา ค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้คำตอบกับเราว่า
“จากผลตอบรับของการดำเนินโครงการสถานีขยะล่องหนไปนั้นเราพบว่า ชาวบ้านในชุมชนบางกะเจ้ากระตือรือร้นมาก ทำให้เราเห็นว่าเขาเห็นคุณค่าของขยะว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ขยะ แต่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า ตามแนวคิดของ ‘ขยะล่องหน’ และ Circular Economy ซึ่งหมายถึงว่าไม่มีอะไรที่เป็นขยะ ถ้าเรารู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจนสุดทาง ตั้งแต่ที่เราเริ่มทำแคมเปญนี้และวัดผลกันมาเรื่อยๆ แค่เฉพาะขยะที่เป็นขวดพลาสติกใส PET ก็เก็บได้มากกว่า 4,500 กว่ากิโลกรัม และเรายังเห็นว่ามีคนเก็บขยะเพื่อนำไป Up Cycling หรือรีไซเคิล อยู่เยอะ
“นอกจากนี้ จากการออกแบบและปรับแผนงานไปเรื่อยๆ เรายังพบสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น การที่วัดสามารถเข้ามามีบทบาทเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการจัดการด้านขยะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพระสงฆ์ที่วัดจากแดงเองนี่แหละที่ออกไปสอนชาวบ้านแยกขยะ เพื่อที่จะได้รับสินค้าอุปโภคของ บมจ.สหพัฒนพิบูล ซึ่งต้องการจะช่วยเหลือชาวบ้านในสถานการณ์โควิด ให้สามารถแบ่งเบาค่าครองชีพได้ เราก็เลยค้นพบว่า ทั้งหมดทั้งมวลนั้นอยู่ที่การออกแบบให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมโครงการต่างก็ได้รับประโยชน์ ‘Win-Win’ ด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งวัดเองก็ได้ทำหน้าที่ได้ช่วยเหลือ มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และตอนนี้วัสดุรีไซเคิลพวกนี้หลวงพ่อท่านก็จะนำไปทำศาลาปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นเราจะเห็นได้เลยว่า ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมนั้นต่างก็ได้รับประโยชน์อยู่ใน Ecosystem ที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิด Circular Economy จนสถานีขยะล่องหน @ชุมชนบางกะเจ้า นั้นได้กลายเป็นต้นแบบที่มีหน่วยงานและชุมชนอื่นๆ เข้ามาดูงาน”
สร้าง Ecosystem ให้เกิด Circular Economy
เมื่อมีแรงจูงใจรู้ว่าต้องทำอย่างไร
ชาวชุมชนบางกะเจ้าต่างกระตือรือร้นเก็บแยกขยะ
คุณนพเก้า ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญกับโครงการ Care the Whale สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ยังชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทำโครงการกับองค์กรธุรกิจในย่านรัชดาหรือย่านอื่นๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ของอาคารหรือองค์กรในย่านนั้นๆ กับการทำโครงการต่อยอดสู่ชุมชนซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไปเป็นชาวบ้าน หลักใหญ่ใจความที่เป็นจุดประสงค์สำคัญนั้นย่อมไม่ต่างกัน นั่นคืออยู่ที่การ ‘สร้างคน’
หลายภาคส่วนในชุมชนต่างเข้ามามีส่วนร่วม
ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน พระสงฆ์ โรงเรียน หรือเหล่าผู้นำในชุมชน
“สิ่งสำคัญแรกที่ต้องได้จากการทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้คือเราต้องได้คนขึ้นมาก่อน หมายถึงเราต้องสามารถสร้างคนที่เข้าใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าเราไม่สามารถให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนได้ ปัญหาเรื่องการจัดการขยะก็คงไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเขาได้ ก็ย่อมจะชักชวนให้เขาหันมารักษาสิ่งแวดล้อมได้ และมันจะเป็นความสำเร็จของโครงการฯ ได้ในระยะยาว ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึงแค่ชาวบ้าน แต่ยังรวมถึงคนในชุมชนด้วย อย่างโรงเรียนเองก็พานักเรียนมาเข้าร่วมทำกิจกรรมคัดแยกขยะ ส่งขยะมา และหน่วยงานระดับชุมชนอย่าง อบต. ไปจนถึงตัวแทนผู้นำชุมชน ซึ่งช่วยต่อยอดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ไปยังครอบครัวของพวกเขา ทำให้เรารู้สึกดีใจที่พบว่า มีคนอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เยอะมาก เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มทำอย่างไร แค่เราบอกเขาว่าเขาทำแบบนั้นได้ มีทางเลือกและเครื่องมือ เขาก็กระตือรือร้นและลงมือทำกัน”
การทำงานเชิงรุกด้วยรถประชาสัมพันธ์และบริการแลกขยะในชุมชน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านนำขยะมาแลก
ต่อยอดขยายความร่วมมือ เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีให้เกิดขึ้นในอนาคต
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับสถานีขยะล่องหน ณ ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นเพียงอีกก้าวจากความตั้งใจอันดีและลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจังเท่านั้น ทางโครงการ Care the Whale ยังหวังอีกว่า นี่จะเป็นต้นแบบสำหรับการต่อยอดขยายผลต่อไปได้ในอนาคต
นอกจากทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมเก็บแยกขยะได้เป็นจำนวนมากแล้ว สถานีขยะล่องหนยังเป็นพื้นที่นวัตกรรมแหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ
“ในส่วนของสถานีขยะล่องหน ชุมชนคุ้งบางกะเจ้านี้ แน่นอนว่าทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตรอย่างบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยังคงทำงานร่วมกันต่อในปีหน้า ซึ่งเราจะขยายผลให้ลงลึกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็กำลังมองหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมกับโครงการนี้ ซึ่งอาจจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับขยะได้หลายประเภทและมากขึ้น เรายังมีความฝันอีกว่า อยากจะใช้โมเดลนี้ขยายผลกับชุมชนอื่นๆ และวัดอื่นๆ โดยหากขยายไปทั่วประเทศได้ก็จะวิเศษมาก เพราะวัดเป็นศูนย์กลางชุมชนของคนไทยอยู่แล้ว และถ้าเราทำให้วัดอื่นๆ ทั่วประเทศสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะเช่นเดียวกับที่วัดจากแดงของชุมชนคุ้งบางกะเจ้าทำได้ก็คงจะดีมากๆ โครงการ Care the Whale ก็มีพันธมิตรในพื้นที่ย่านอื่นๆ ที่แสดงความสนใจอยากจะเข้าร่วมกับเราอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างพูดคุยกันอยู่ว่าจะออกแบบรูปแบบกิจกรรมหรือโครงการออกมาอย่างไร
“ไม่ว่าใครที่สนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการ Care the Whale ซึ่งอาจเป็นชุมชน โรงเรียน ชมรม สมาคม หรือองค์กรในลักษณะต่างๆ หากสนใจในเรื่องของการจัดการขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็สามารถเข้ามาคุยกับเราได้เลย เราเปิดใช้แพลตฟอร์มคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ให้กับทั้งเครือข่ายและสาธารณะได้นำไปใช้เรียนรู้และเป็นประโยชน์ ในการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากขยะและของเสียที่ท่านมีส่วนสร้าง เรายินดีที่จะร่วมพูดคุยและเป็นพันธมิตรกับทุกหน่วยงานที่สนใจจะทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเป็นอีเวนต์เพียงแค่ครั้งเดียว แต่อยากจะร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยองค์กรที่สนใจสามารถมาคุยกับเราและออกแบบการทำงานร่วมกันได้”
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จจากโครงการ Care the Whale ที่ผ่านมาจนถึงพื้นที่นวัตกรรมอย่างสถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จะเป็นโมเดลที่ได้รับการนำไปต่อยอดอีกเยอะๆ เพราะเมื่อโครงการดีๆ เช่นนี้ถูกนำไปขยาย ย่อมสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการสร้างคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของโลกเราให้ดีขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
- โครงการ Care the Whale ‘ขยะล่องหน’ เริ่มดำเนินงานโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตั้งแต่ปลายปี 2562 ปัจจุบันมีพันธมิตรมากกว่า 40 องค์กร ซึ่งได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะได้แล้วถึงกว่า 13,812,665.43 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี จำนวน 1,534,741 ต้น โดยทำงานร่วมกับพันธมิตร มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อการลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน หากสนใจการดำเนินของโครงการ Care the Whale ‘ขยะล่องหน’ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ setsocialimpact.com หรือเฟซบุ๊ก Care the Whale