×

ตลท. ไม่ฟันธงว่าจะยกเลิกหรือต่อมาตรการห้าม Short Sell ระบุยังจับตาใกล้ชิด และพร้อมผ่อนหรือเข้มเกณฑ์ดูแลตลาดหุ้นไทย

09.04.2025
  • LOADING...
set-short-sell-measures

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย ขณะนี้ยังไม่ชัดว่าจะยกเลิกหรือต่อมาตรการที่ห้าม Short Sell และกำหนด Ceiling & Floor ที่ให้ใช้ชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันตลาดยังไม่นิ่ง จากปัจจัยความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์ แย้มพร้อมทั้งการผ่อนเกณฑ์ลงและเข้มเกณฑ์ขึ้นเพื่อรับมือสถานการณ์ ซึ่งขึ้นกับภาวะตลาดระหว่างรอเม็ดเงินจาก Thai ESGX เข้ามาหนุนตลาดในต้นเดือน พ.ค. นี้ 

 

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยกเลิกเกณฑ์ที่ออกมาใช้ชั่วคราวกรณีที่ห้าม Short Sell และกำหนด Ceiling & Floor ที่บังคับใช้ชั่วคราวระหว่าง 8-11 เมษายนนี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะยกเลิกเร็วกว่ากำหนดหรือจะต่ออายุออกไปอีก โดยตลาดได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเป็นรายวัน การทำมาตรการขึ้นกับสถานการณ์ในตลาด ซึ่งข้อกังวลในขณะนี้มองว่าตลาดเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น มาตรการที่ออกมาช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยได้ในระดับหนึ่งทำให้ตลาดไม่ลงเร็วเกินไป สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลง 4.50% ซึ่งน้อยกว่าหลายตลาดในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการปรับตัวในวันก่อนหน้า และบริษัทจดใน SET 100 มีหุ้นแค่ 2 ตัวที่มีการฟลอร์ระหว่างวัน แต่ความผันผวนและความไม่แน่นอนจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐและประเทศต่างๆ จะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง 

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณามาตรการอย่างรอบคอบ ซึ่งมาตรการที่เตรียมการไว้มีทั้งด้านที่จะผ่อนคลายลงและมาตรการที่เข้มขึ้น อาทิ ยกเลิกมาตรการ Short Sell และ Ceiling & Floor เร็วกว่ากำหนด ส่วนที่จะเข้มขึ้นอาจจะเข้มมาตรการ Circuit Breaker โดยอาจลดเกณฑ์ Circuit Breaker ลงมาเข้มสุดที่ 5% จากเกณฑ์ปัจจุบันลงจากปกติที่ดัชนีปรับลดลงระดับ 8% พักการซื้อขาย 30 นาที, ลดลง 15% พักการซื้อขาย 30 นาที และลดลง 20% พักการซื้อขาย 60 นาที เป็นต้น 

 

อัสสเดชกล่าวว่า ตอนนี้เชื่อว่าผลกระทบแผ่นดินไหวต่อตลาดหุ้นไทยจบแล้ว เหลือเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งต้องวิเคราะห์ลึกละเอียดเป็นรายวัน ซึ่งตลาดจะติดตามข้อมูลการเจรจาและตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยบอร์ดมีการหารือกันตลอดเวลาผ่านไลน์กรุ๊ป ส่วนเป็นความกังวลว่าอาจจะมีแรงขายหุ้นไทยจากกองทุนรวมวายุภักษ์เพื่อทำตามเกณฑ์ในการถือครองเงินสดหากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงเกิน 20% นั้น จากการหารือกับ นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทยล่าสุด ทาง AIMC ยืนยันว่ายังไม่เข้าเกณฑ์จะขาย ถ้าจะขายนับจากวันนี้ดัชนีตลาดต้องลงอีก 20% จึงจะเข้าเกณฑ์การถูกบังคับขาย ดังนั้น แรงขายจากกองทุนรวมวายุภักษ์จึงไม่น่ากังวล และนอกจากนี้ในต้นเดือน พ.ค. ปีนี้ยังมีสภาพคล่องที่เตรียมจะเข้าซื้อหุ้นไทยอีกไม่น้อย โดยปัจจุบันคุณภาพบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

 

ส่วนประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่อาจเติบโตต่ำกว่า 2% จากผลกระทบนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญนั้น ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า ยังต้องติดตามผลกระทบอีกค่อนข้างมาก แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป บจ.ไทยอาจต้องมองหาแนวทางการเติบโตในบริบทใหม่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการ Jump+ สำหรับช่วย บจ.ในการหาแนวทางเติบโตอยู่แล้ว 

 

หลายปัจจัยลบ กด SET Index เดือน มี.ค. ลดลง 3.8%

 

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง และปริมาณการซื้อขายในช่วงปลายเดือนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐประกาศมาตรการเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทย รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในภาคบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติในอดีตทั้งสึนามิปี 2547 และน้ำท่วมปี 2554 แม้ว่ามีผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้ลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผลกระทบเหล่านี้มักเป็นระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

และเมื่อ 7 เม.ย. 2568 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการเพื่อรองรับความผันผวนจาก Trump’s Tariff Effect ใน SET & TFEX ในช่วงวันที่ 8-11 เมษายน 2568 ดังนี้ 

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ (SET ) 

  1. ปรับ Ceiling/Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น Common Stock จาก 30% เหลือ 15% 
  2. ปรับกรอบราคา Dynamic Price Band ลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 10% เหลือ 5%
  3. ไม่อนุญาตให้ Short Sell ยกเว้น Registered MM สามารถ Short Sell ได้ตามปกติ” 

 

ส่วนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (TFEX) ปรับ Ceiling/Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง สำหรับ Equity based product จาก 30% เหลือ 15% 

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บจ. ในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี Downside ที่จำกัด

 

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ตลาดปรับลดลงประมาณ 23%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising