ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจับตา 4 ปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ลุ้นแผนเปิดประเทศดึง Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นได้ต่อเนื่อง หลังจาก 4 เดือนแรกซื้อสุทธิสะสม 131,367 ล้านบาท
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยปัจจัยในต่างประเทศที่ต้องจับตามองต่อมี 3 เรื่อง คือ
- การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งเบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วว่า Fed จะดำเนินการปรับขึ้นนโยบายตามแผนที่ประกาศไว้ แต่เมื่อเริ่มดำเนินการจริงก็จะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน
- ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะมีอะไรปะทุขึ้นมาอีกหรือไม่ ซึ่งหากมีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายอีก ก็จะกระทบราคาน้ำมันและราคา Commodities อื่นๆ ซึ่งเป็นทุนการผลิตของหลายธุรกิจ
- สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังคงไม่แน่นอน โดยต้องติดตามต่อว่าท้ายสุดแล้วโควิดจะกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์จะปรับตัวและอยู่ด้วยได้ หรือเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามมี 1 ปัจจัย คือ มาตรการจากภาครัฐที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นในยามที่ต้องเผชิญกับต้นทุนราคาน้ำมันแพง โดยเศรษฐกิจไทยปัจจุบันนี้เพิ่งเริ่มฟื้นตัว หากต้องรับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีปัญหาได้ ดังนั้นมาตการที่จะมาทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
เขากล่าวว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาก และส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้มีความกังวลว่า Fed อาจดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปีของสหรัฐฯ ที่ติดลบ (Inverted Yield Curve) ทำให้ผู้ลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
“Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จริง แต่เมื่อดูข้อมูลสถิติย้อนหลังไป 20 ปี จะพบว่ามีแค่บางปีเท่านั้นที่เกิด Inverted Yield Curve และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง และเท่าที่ติดตามตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ ยังเชื่อว่าไม่ได้แย่ ส่วนในประเทศไทยเองเท่าที่ดูยังไม่เกิด Inverted Yield Curve” ศรพลกล่าว
ศรพลกล่าวอีกว่า ปัจจัยภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงไปยังรัสเซียและยูเครนค่อนข้างน้อย และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมืองในอนาคต ทำให้เห็น Fund Flow จากผู้ลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยในไตรมาส 1/65 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยมากที่สุด
สาเหตุที่มี Fund Flow เข้าสูตลาดหุ้นไทยตลอดไตรมาส 1/65 นั้นมาจาก 1. ตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ทำให้ถูกคาดการณ์ว่ากำไร บจ. และ GDP จะดีขึ้น 2. เงินเฟ้อในประเทศแม้จะปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่แรงเท่าประเทศอื่น จึงถูกคาดหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะไม่ปรับขึ้นเยอะ 3. เงินทุนเคลื่อนย้ายจากยุโรปที่เกิดสงคราม และจากจีนที่มีการคุมเข้มเรื่องกฎระเบียบ มาพักในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติมองว่ามีความผันผวนน้อยกว่า ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เดือนมีนาคมบรรยากาศการลงทุนค่อนข้างเงียบ ดัชนีมีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เนื่องจากยังไม่มีข่าวอะไรใหม่ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเดิมยังคงกดดันตลาดหุ้นอยู่ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยกลับมี Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าต่างชาติเห็นความน่าสนใจตลาดหุ้นไทยในเรื่องของความมั่นคง มีเสถียรภาพ โดยมีการเข้าซื้อสุทธิทั้งตลาดตราสารหนี้ระยะยาวแม้ว่าค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้น และการเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งไตรมาส
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการเปิดประเทศที่จะทำให้ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในปีที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวและเป็นที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่หว่างทำแผนการจัดโรดโชว์ความเคลื่อวไหวและการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียน โดยคาดว่าจะเริ่มจัดงานโรดโชว์ได้ภายหลังจากที่ บจ. ปิดงบรายไตรมาส
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP