×

ตลท. จ่อเพิ่มแผนสร้าง Trust เป็น KPI ใหม่ วัดผลการทำงานบอร์ด-ผู้บริหาร

23.01.2024
  • LOADING...

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศแผนกลยุทธ์ ปี 2567-2569 เดินหน้าลุยความเชื่อมั่นตลาดทุน จ่อนำ KPI ในการสร้าง Trust นำมาเป็น KPI ใหม่เพิ่มเติมเพื่อใช้วัดผลการทำงานของทั้งบอร์ด ผู้บริหาร และองค์กร ให้มีความชัดเจนขึ้น

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แผนหลักข้อหนึ่งที่สำคัญของแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567-2569  คือการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน​ หรือ Trust ซึ่งมีผู้เสนอให้ความเห็นว่าควรมี KPI ในการวัดผลงานขององค์กรที่ชัดเจนในการกำกับดูแล บจ. และการซื้อขาย อีกทั้งมี Direct Line ในการทำงานไปถึงระดับคณะกรรมการ (บอร์ด) ถึงการประเมินผลงานและการ Action ต่างๆ โดยบอร์ดต้องมีส่วนร่วมรับทราบและรับผิดชอบในเรื่องนี้ ดังนั้นเตรียมจะมีการนำ KPI ในการสร้าง Trust นำมาเป็น KPI ใหม่เพิ่มเติมเพื่อใช้วัดผลการทำงานของทั้งบอร์ด ผู้บริหาร และองค์กร ให้มีความชัดเจนขึ้น โดยเตรียมนำเสนอแผนงานเรื่องดังกล่าวนี้เข้าบอร์ดให้พิจารณาในอนาคตด้วย

 

โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ คือ โอลิเวอร์ ไวแมน เพื่อมาศึกษาวิเคราะห์กระบวนการของระบบทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงความกังวลกับข้อสงสัยต่อธุรกรรมการทำ Naked Short Selling กับโปรแกรมเทรดดิ้ง High Frequency Trading (HFT) ที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เบื้องต้นล่าสุดมีผลการศึกษาภายในที่น่าสนใจออกมาในหลายด้าน แต่ยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นสามารถรองรับการซื้อขาย ทั้งประเด็นป้องกันการเกิด Naked Short Selling รวมทั้งสนับสนุนโปรแกรมเทรดดิ้งที่มีความเหมาะสม โดยคาดว่าจะมีการออกหรือปรับปรุงเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมแน่นอนในอนาคต 

 

ทั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาทั้งหมดจะออกมาในช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หลังจากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เพื่อเปิดเผยข้อมูลของผลการศึกษาทั้งหมด รวมถึงทำแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว

 

พร้อมทั้งยืนยันว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบข้อมูลการทำ Short Selling ที่มีข้อสงสัยว่าเป็นการทำ Naked Short Selling จำนวน 4 กรณี ซึ่งตรวจสอบแล้วในทุกกรณีไม่พบการทำ Naked Short Selling เพราะผู้ที่ขายหุ้นมีหุ้นในพอร์ตก่อนขาย

 

ตลท. จับมือ ก.ล.ต. ศึกษาการใช้กลไก Auto Halt-Auction

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ศึกษาเบื้องต้นร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการศึกษา เพื่อนำกลไกการห้ามซื้อขายหุ้นรายตัวแบบอัตโนมัติชั่วคราว หรือ Auto Halt (H) ในหุ้นที่พบว่าเข้าเงื่อนไขมีสภาพการซื้อขายทั้งปริมาณและราคาที่ผิดปกติ รวมทั้งศึกษาการนำกลไก Auction มาใช้เพิ่มเติมในอนาคตกับหุ้นที่มีความร้อนแรงมากๆ เนื่องจากระบบการซื้อขายใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพรองรับให้สามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี หากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำทั้ง 2 กลไกดังกล่าวออกมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแลการซื้อขาย จะต้องมีการปรึกษาและศึกษา รวมทั้งเปิดเฮียริ่งร่วมกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งหมด และเสนอกลับไปให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณารับรอง เพื่อประกาศออกมาเป็นเกณฑ์​ของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

“ทั้ง 2 กลไก ทั้ง Auto Halt กับ Auction มีโอกาสนำออกมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแลการซื้อขาย แต่คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมีการปรับตัว อย่างการขึ้น Auto Halt มีหลักเกณฑ์เกิดจากอะไรได้บ้าง หรือการนำ Auction มาใช้แทนการ Matching จะเกิดได้ในกรณีไหนบ้าง และมีประเด็นผลกระทบตามมา เช่น DW จะโดนด้วยหรือไม่ คงต้องใช้เวลาในการศึกษาต่อว่าจะเริ่มทำได้เมื่อไร จึงจะมาอัปเดตข้อมูลความคืบหน้าอีกครั้ง”

 

หารือ ก.ล.ต. ให้ข้อมูลกรณี ‘ปั่นหุ้น’ ให้เร็วขึ้น

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อหามาตรการให้สามารถรายงานข้อมูลได้รวดเร็วขึ้นจากเดิม ในกรณีที่ตรวจพบการกระทำผิดจากพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม หรือเข้าข่ายการสร้างราคาหรือปั่นหุ้น ซึ่งปัจจุบันการเปิดข้อมูลมีความล่าช้ามาก ถือเป็นปัญหา เนื่องด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลออกมาได้ในระหว่างตรวจสอบ จนกว่าจะมีการตัดสินออกมา ทั้งนี้ เพื่อทำให้โบรกเกอร์และผู้ลงทุนสามารถมีข้อมูลใช้เฝ้าระวังผู้ลงทุนกลุ่มบุคคลที่เข้ามาซื้อขายที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

 

พร้อมทั้งยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เพื่อหาแนวทางป้องกันนักลงทุนกลุ่มที่มีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสมหรือปั่นหุ้น ให้ไม่สามารถเข้ามาเปิดบัญชีการซื้อขายให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก รวมถึงให้โบรกเกอร์มีข้อมูลรายชื่อนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องปรามได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2567 

 

มี IPO ยื่นไฟลิ่ง 40 บริษัท มองปีนี้ Window เปิด 

 

ด้าน แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ปี 2567 ล่าสุดมีบริษัทยื่นแบบแสดงข้อมูลการขออนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) จำนวน 40 บริษัท แบ่งเป็น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 20 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 20 บริษัท รวมถึงยังมีบริษัทที่มีความสนใจเข้ามาจดทะเบียนซื้อในกระดาน LiVE Platform อีกจำนวน 3 บริษัท ซึ่งทั้งหมดแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ New Economy จำนวนประมาณ 11 บริษัท เช่น กลุ่มเมดิคอล ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และเชื้อเพลิงชีวภาพ

 

โดยกลุ่มที่ยื่นไฟลิ่งมากสุดคือกลุ่มธุรกิจบริการ รองลงมาคืออสังหาริมทรัพย์กับรับเหมาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมในการยื่นไฟลิ่งอีกประมาณ 80 บริษัท 

 

สำหรับกลุ่มบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งแล้ว การตัดสินใจในการเข้าจดทะเบียนซื้อขายขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังนี้ 

 

  1. ความพร้อมของข้อมูลและการรออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. 
  2. ความต้องการใช้เงินของบริษัท
  3. สภาวะภาพรวมของตลาดหุ้น

 

“เท่าที่คุยกับนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าสภาวะตลาดหุ้นในปีนี้ Window น่าจะเปิดเอื้ออำนวยมากกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเอื้อตลอดทั้งปี 2567 ส่วนมูลค่ามาร์เก็ตแคปของทั้ง 40 บริษัทที่ยื่นไฟลิ่งแล้วอยู่ที่ Valuation เพราะตอนนี้ยังไม่สรุปออกมา”

 

ส่วน ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท. กล่าวว่า ในกรณีที่ราคาหุ้นปรับลดลงหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างรวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี Action ในทั้ง 2 กรณี โดยในกรณีที่ราคาหุ้นลดลงมากผิดปกติก็จะมีการติดตามให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องชี้แจงข้อมูลเหตุผล เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบถึงพัฒนาการที่สำคัญของบริษัท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising