ตลท. เผย มีนักลงทุนส่งข้อมูล 3 เคสให้ตรวจสอบ ยืนยันไร้ Naked Short Selling พร้อมเล็งจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศวิเคราะห์มาตรฐานระบบงาน ลุยสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับลดลงเนื่องจากผลกระทบจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ลดลงจากผลกระทบต่างๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของไทย และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลก โดย SET Index ถือเป็นดัชนีชี้นำถึงสภาวะเศรษฐกิจของไทย และความสามารถในการทำกำไรของ บจ. ในอนาคต
ดังนั้น หากกำไรของ บจ. ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ขณะที่ภาคการส่งออกไทยหากยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นก็จะเป็นปัจจัยที่ยังกดดันดัชนีหุ้นไทย
ส่วนประเด็นความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย หลังเกิดปัญหาต่างๆ ที่กระทบความเชื่อมั่นในหลายกรณีเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และปัญหาที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับวิธีการทำงาน รวมถึงการปรับกฎระเบียบต่างๆ ควบคู่ไปกับผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความกังวลในประเด็นปัญหาการทำ Naked Short Selling กับ High Frequency Trading (HFT) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวข้างต้นมาโดยตลอด ซึ่งมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและละเอียดโดยใช้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางในการเพิ่มความมั่นใจโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเน้นการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้น ให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องได้เห็นข้อมูลที่มีการมอนิเตอร์และนำมาวิเคราะห์ โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนส่งกรณีที่มีความสงสัยมาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบอย่างละเอียดจำนวน 3 กรณี ซึ่งไม่พบว่ามีการทำ Naked Short Selling
ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ทำการซื้อ-ขายในตลาดหุ้นมีสัดส่วนการใช้ Program Trading ประมาณมากกว่า 80% ของธุรกรรมการซื้อ-ขาย ซึ่งต้องมีการแยกออกจาก High Frequency Trading (HFT) ที่มีความตั้งใจนำมาใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันพบข้อมูลว่ามีปริมาณธุรกรรมเพียง 8-12% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบให้การซื้อ-ขายผิดปกติ
จ่อจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศตรวจสอบระบบการทำงาน
ส่วนที่สอง ตลท. เตรียมว่าจ้างแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อมาศึกษาวิเคราะห์กระบวนการของระบบทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีการทำงานอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ รวมถึงจะเชิญตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกมาเป็นที่ปรึกษาให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการทำงานของ ตลท. ว่ามีการทำงานด้านใดที่ควรปรับปรุงในอนาคต โดยหลังเซ็นสัญญาว่าจ้างแต่งตั้งที่ปรึกษาคาดว่าจะเริ่มทำงานได้ในช่วงต้นปี 2567 และผลการศึกษาจะออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างกับมาตรฐานสากล แต่เราต้องดึงผู้เชี่ยวชาญให้มาช่วยวิเคราะห์ มาช่วยให้ข้อมูลกับที่เกี่ยวข้องว่าสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำมีความน่าเชื่อถืออย่างไรบ้าง”
ภากรกล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก เพราะไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจเป็น Open Economy ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก และพึ่งพิงทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง โดยหากสถานการณ์ของโลกเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นในปี 2567 ประกอบกับมีปัจจัยของนโยบายภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า รวมถึงความแข็งแกร่งของภาคธนาคารพาณิชย์
อีกทั้งไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 2.40 แสนล้านดอลลาร์ และมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สัดส่วน 62.5% ซึ่งไทยมีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หลังจากช่วงโควิด-19 ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง รวมถึงการระดมทุน IPO ในตลาดหุ้นไทยยังติด Top 10 ในเอเชีย และ Top 2 อาเซียน ดังนั้น จึงมองว่าธุรกิจจะไม่มีปัญหาในด้านแหล่งเงินลงทุน ซึ่งหากเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตดีขึ้น และ บจ. สามารถขยายกิจการได้ มีการจ้างงานในระบบที่เพิ่มขึ้น มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจและดัชนีตลาดหุ้นไทยก็มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเร็ว
ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะมีเครื่องจักรใหญ่ 3 ประเด็นที่จะเข้ามาขับเคลื่อนที่ต้องติดตาม คือ
- การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาในเดือนพฤษภาคมปีหน้า จากในปี 2566 ที่ถูกนำมาเบิกจ่ายไม่ทัน
- ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีนกลับมาสัดส่วนประมาณ 80% ของช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ขณะที่จีนฟื้นตัวกลับมาเพียง 40% ของช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด โดยต้องจับตาดูข้อมูลต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2567
- แนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มลดลงจะเป็นปัจจัยหนุนให้ บจ. มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลง
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ให้ติดตามปัจจัยเกี่ยวกับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนมีความคาดหวังสูงเกินไปหรือไม่ และคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า แม้ยังไม่เคยส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยลง รวมทั้งประเด็นปัญหาด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ว่าจะขยายวงความขัดแย้งหรือไม่ และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจขยับสูงขึ้นจากปัญหาสงคราม
“ภาพใหญ่มองว่าด้านปัจจัยพื้นฐานมีภาพที่ดูดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงในด้านนโยบายของ Fed กับราคาน้ำมัน”
สำหรับการมีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) ที่เริ่มเปิดขายตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ยังรอติดตามผลว่าจะสร้างความคึกคักกับตลาดหุ้นไทยได้มากหรือน้อยอย่างไร เพราะมีระยะเวลาในการขายที่ค่อนข้างสั้น แต่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มวอลุ่มซื้อ-ขายได้บ้าง
ภาวะตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ย. ร่วง 17.3%
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,380.18 จุด ปรับลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มการเกษตรและอาหาร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน 2566 มูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 45,804 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 28.9% โดยมูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อวันใน 11 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 54,399 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 10 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 21,132 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อ-ขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ขณะที่มี Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 16.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.0 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.25% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.43%