ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศความพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบในปีหน้า เตรียมจับมือพันธมิตร คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท (Kubix) ออกโทเคนดิจิทัลตัวแรกเสิร์ฟผู้ลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดตลาดรองซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยภายในไตรมาส 2-3 หวังเพิ่มโอกาสระดมทุนให้กับภาคธุรกิจและสร้างทางเลือกแก่นักลงทุนที่มองหาผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่
กิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่าจากนโยบายของ ตลท. ในการก้าวสู่การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและการสร้างตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คาดว่าสินทรัพย์ประเภทโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ตัวแรกที่ ตลท. จะออกโดยผ่าน บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดย กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะพันธมิตรของ ตลท. จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ จากนั้นภายในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ก็คาดว่าจะสามารถเปิดตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้
“ในเดือนกุมภาพันธ์หรือภายในไตรมาสแรกปีหน้า เราจะออกโทเคนในตลาดแรกก่อน โทเคนอันแรกที่เราออกจะดำเนินการโดยพันธมิตรของเราคือคิวบิกซ์ จากนั้นเราก็จะเปิดตลาดรองการซื้อขายในช่วงปลายไตรมาส 2 หรืออย่างช้าจะเป็นต้นไตรมาส 3 ถือเป็นตลาดรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์ จากตอนนี้มีตลาดรองของเอกชนแล้ว 7 แห่ง”
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) แล้วทั้งสิ้นจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย
- บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)
- บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro)
- บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (Huobi) (คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งระงับให้บริการและเพิกถอนใบอนุญาต)
- บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX)
- บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
- บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)
- บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX)
กิตติกล่าวว่า จากเป้าหมายดังกล่าว ตลท. จะจัดตั้ง บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด ซึ่งจะอยู่ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ มุ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร โดยจะครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก (Initial Coin Offering Portal หรือ ICO Portal) ทุกรายที่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน จนถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมไปถึงการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Wallet) เก็บรักษาโทเคนดิจิทัล เพิ่มช่องทางใหม่สำหรับผู้ต้องการระดมทุน และเป็นการสร้างโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกให้กับผู้ลงทุน
“สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มคริปโตเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) เราไม่มีนโยบายจะเชื่อมโยงการลงทุนกับสินทรัพย์กลุ่มนี้ เพราะมีการเก็งกำไรสูง ไม่มีสินทรัพย์อะไรมาหนุน คงไม่เหมาะสมหากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ลักษณะนี้
กับอีกกลุ่มคือดิจิทัลโทเคน ซึ่งจะแยกได้เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investmen Token) และยูทิลิตี้โทเคน (Utility Token) เราจะเป็นตลาดรองของสินค้ากลุ่มนี้โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เป็นตัวกลางไปหาสินค้า หรือผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) จากผู้ที่ต้องการระดมทุน”
ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบผู้ทำหน้าที่เป็น ICO Portal แล้ว จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย
- บริษัท ลองรูท (ประเทศไทย) จำกัด (Longroot)
- บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (T-BOX)
- บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XSpring Digital)
- บริษัท บิเธิร์บ จำกัด (BiTherb)
- บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ
- บริษัท แฟรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (Fraction) ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ
- บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)
กิตติกล่าวด้วยว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าตลาดรองสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน แต่หากไม่ดำเนินการก็จะถูกดิสรัปต์ ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และตลาดส่วนใหญ่ในยุโรปได้มีการจัดตั้งตลาดดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ในส่วนของ ตลท. มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการลงทุนลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ลงทุน
ข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต. (ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน) ระบุว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าตามมาร์เก็ตแคป (Market Cap) อยู่ที่ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่า 43.27% มาจาก Bitcoin
ทั้งนี้พบว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับหลักทรัพย์ ทองคำ และน้ำมัน โดยราคาสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความเสี่ยงและความผันผวนที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นไทย (SET Index) ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +12.20%
อย่างไรก็ตาม กิตติกล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีในการเก็บรักษาดิจิทัลโทเคนด้วยการเข้ารหัสจะทำให้เกิดการดิสรัปต์ขบวนการหลังการซื้อขายทั้งในส่วนของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ คัสโตเดียน (Custodian) และการเป็นนายทะเบียน
สำหรับ คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท ถือเป็นพันธมิตรรายแรกที่ร่วมมือกับ ตลท. ในการพัฒนาสินค้าและการสร้างตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในอนาคตอาจจะมีพันธมิตรรายอื่นๆ ตามมาได้ เพราะตลาดหลักทรัพย์ยังเปิดกว้างในเรื่องนี้