ตั้งแต่ต้นปี 2565 หากวัดผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่มต่างๆ แบ่งตามขนาดของหุ้น โดยทั่วไปแล้ว หุ้นในดัชนี SET มักจะเป็นตัวแทนของหุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนหุ้นในดัชนี mai ก็มักจะเป็นตัวแทนของหุ้นที่มีขนาดเล็กกว่า จะเห็นว่าผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่ม mai ดีกว่า SET อย่างเห็นได้ชัด โดย ณ วันที่ 18 เมษายน 2565 ดัชนี mai เพิ่มขึ้นถึง 14.94% ส่วนดัชนี SET เพิ่มขึ้นเพียง 0.63%
หากพิจารณาแยกในแต่ละเดือนของปีนี้ จะเห็นว่ามีเพียงเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนี SET ปรับขึ้นได้มากกว่า mai โดยดัชนี SET +2.2% ส่วน mai +0.3% ขณะที่เดือนมกราคม มีนาคม และเมษายน ดัชนี mai ปรับขึ้นได้มากกว่า SET ทั้งหมด
ส่วนดัชนี sSET ที่เป็นเหมือนตัวแทนหุ้นขนาดกลาง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปรับขึ้นได้ 0.2% แต่ในช่วง 1 เดือนล่าสุด เริ่มกลับมาให้ผลตอบแทนสูงกว่า SET อีกครั้ง
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การที่ดัชนี mai หรือหุ้นในกลุ่มกลางและเล็กโดดเด่นกว่าหุ้นใหญ่อาจไม่น่าแปลกใจนัก เพราะการที่หุ้นใหญ่จะคึกคักขึ้นมาได้ ต้องอาศัยสองแรงคือ ต่างชาติ และสถาบันในประเทศ แต่ขณะนี้ทั้งสองแรงอ่อนลงไป
หากพิจารณาจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยภาพรวม ณ ขณะนี้ ได้แก่
- กระแสเงินลงทุนต่างชาติ
- ปริมาณเงินในระบบของนักลงทุนทั่วไป
- อัตราดอกเบี้ยและความชัน Yield Curve
“หุ้นในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสที่จะโดดเด่นกว่าหุ้นขนาดใหญ่ต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้” ณัฐชาตกล่าว
สำหรับปัจจัยแรกคือ กระแสเงินทุนต่างชาติ มีโอกาสที่จะเห็นเงินลงทุนไหลออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หลังจากที่ผ่านช่วงของการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายเงินปันผล ขณะเดียวกันความเสี่ยงในเรื่องของรัสเซียกับยูเครน เงินเฟ้อ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้หุ้นใหญ่ถูกกดดันต่อเนื่อง สำหรับหุ้นใหญ่ที่ยังพอจะโดดเด่นคือกลุ่มพลังงาน แต่กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มจะซึมลงตามสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่สองคือ ปริมาณเงินในระบบ (M2) ซึ่งเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปลายไตรมาสแรก คล้ายกับช่วงที่โควิดระบาดหนักเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เงินส่วนหนึ่งถูกกระจายมาลงทุน ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นชัดเจน
ปัจจัยที่สามคือ อัตราดอกเบี้ยและความชัน Yield Curve ที่แบนลง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ระยะสั้นพุ่งขึ้นมา เนื่องจากนักลงทุนไม่ต้องการจะถือครองบอนด์ระยะสั้น หรือต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้นมาก เป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่จะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยตามมา ในภาวะที่ Yield Curve แบนราบลง มักจะทำให้หุ้นกลุ่ม Growth กลับมาโดดเด่นกว่าหุ้นกลุ่ม Value
นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงมูลค่าเปรียบเทียบกับระหว่างดัชนี SET50 และ sSET ค่า Forward P/E ของ sSET อยู่ที่ 13.8 เท่า ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 17.9 เท่า ขณะที่ดัชนี SET50 มี Forward P/E 17 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 17.7 เท่า ส่วนค่า Forward P/E ของ mai ยังไม่มีแหล่งอ้างอิง แต่สำหรับค่า P/E ย้อนหลังขยับขึ้นมาเป็น 60 เท่า
“เชื่อว่าหุ้นกลางเล็กจะยังคงโดดเด่นต่อไป จนกว่าทั้ง 3 ปัจจัยจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการไหลเข้าของ Fund Flow สภาพคล่องที่เริ่มไหลออกจากระบบ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่โควิดจบเร็ว และเงินเฟ้อเริ่มบรรเทา โดยสถานการณ์เหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว คือปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4”
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ด้วยภาวะปัจจุบัน ทำให้หุ้นขนาดใหญ่มีแรงขับเคลื่อนจำกัด ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และการดูดสภาพคล่องกลับของธนาคารกลางแต่ละประเทศ
“ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนหันมาหาหุ้นกลางเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นที่ยังมีแนวโน้มกำไรเติบโต แต่การวิ่งของหุ้นกลางเล็กในรอบนี้จะต่างออกไปจากปีก่อนที่วิ่งไปพร้อมๆ กัน แต่รอบนี้จะเป็นการวิ่งเพียงบางตัว ซึ่งนักลงทุนควรจะมองหาหุ้นที่ยังมีแนวโน้มผลประกอบการดี”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP