ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวันนี้ (22 สิงหาคม) ดัชนี SET ปิดที่ 1,545.60 จุด เพิ่มขึ้น 19.75 จุดจากวันก่อนหน้า ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 วันทำการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หนุนดัชนีมากสุดวันนี้คือกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนหนุนดัชนี 4.7 จุด และ 4.4 จุด ตามลำดับ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นวันนี้มาจากผลการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านการประชุมสภา ซึ่งปรากฏว่า เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หลังจากได้รับการลงคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด 750 เสียง
ขณะที่ราคาหุ้นของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ซึ่งเศรษฐาเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัท วันนี้ราคาปรับตัวขึ้น 7.45% จากวันก่อนหน้า ปิดที่ 2.02 บาท สูงสุดในรอบ 16 วันทำการ
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนหุ้นไทยวันนี้มาจากประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรีที่สำเร็จเรียบร้อย หากดูกลุ่มหุ้นที่ตอบรับเชิงบวก หากตัดกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ออกไปจะเห็นว่ากลุ่มที่โดดเด่นคือกลุ่มค้าปลีกและไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดจากแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้
หากย้อนไปดูสถิติของหุ้นไทยหลังจากโหวตนายกรัฐมนตรีสำเร็จเมื่อ 4 ปีก่อน นำไปสู่การปรับขึ้นของ SET ถึง 6% ภายใน 1 เดือน แต่รอบนี้เชื่อว่าดัชนีอาจไม่ได้ปรับขึ้นแรงเท่า โดยเรายังประเมินพื้นฐานของดัชนี SET ที่ 1,560 จุด
“โมเมนตัมจากปัจจัยการเมืองน่าจะทำให้หุ้นยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และยังแข็งค่าต่อเนื่องในวันนี้ รวมทั้งการซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้กว่า 4 พันล้านบาทของนักลงทุนต่างชาติ”
อย่างไรก็ตาม หากมองเรื่องกำไรต่อหุ้นของหุ้นไทยโดยรวมยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวนัก แต่เชื่อว่ากลุ่มค้าปลีกและไฟแนนซ์น่าจะยังได้แรงหนุนจาก Sentiment เชิงบวก
“หากมองข้ามปัจจัยการเมือง เรามองว่าหุ้น 3 กลุ่มที่น่าจะโดดเด่นและมีกำไรดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร รวมทั้งกลุ่มบริหารหนี้”
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า หากดัชนี SET ทะลุ 1,560 จุด จะเป็นระดับที่เปราะบางในเชิงปัจจัยพื้นฐาน แต่การลงของดัชนีอาจจะยากในระยะสั้น กลยุทธ์หลังจากนี้คือรอให้ตลาดซึมซับบรรยากาศเชิงบวกต่อไปอีกสักระยะ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาลดพอร์ตลงทุนลงบางส่วน
“นักลงทุนอาจรอให้เห็นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ และจังหวะสุดท้ายคือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ตรงนั้นจะเป็นจังหวะของการลดพอร์ตหากดัชนีพุ่งขึ้นไปเกิน 1,560 จุด โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่มีมาตรการกระตุ้นออกมา”