ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง 15.11 จุด หรือ -1.09% ในช่วงครึ่งวันทำการแรกของวันนี้ (9 มกราคม) มาอยู่ที่ 1,372.61 จุด โดยระหว่างวันดัชนีลดลงไปต่ำสุดที่ 1,367.08 จุด หรือลบ 20.64 จุด
แม้ว่าวันนี้หุ้นที่มีมูลค่ามากสุดในตลาดอย่าง DELTA จะปรับตัวขึ้น 1.29% แต่มีแรงขายออกมาในหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น ADVANC -1.76%, GULF -1.29%, PTTGC -4.03%, GPSC -4.29%, IVL -5.79% และ VGI -6.86%
ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชียส่วนใหญ่ติดลบประมาณ -0.5% ถึง -1% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้
สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นไทยมีโอกาสซึมลงไปถึงระดับ 1,310-1,350 จุด และสาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลดลงแรงกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเป็นเพราะแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นหลายๆ กลุ่มที่ไม่ดีนัก
“เวลานี้กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจแทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว หากไล่ดูกลุ่มหลักๆ จะเห็นว่ากลุ่มพลังงานถูกกดดันจากราคาน้ำมัน, กลุ่มโรงไฟฟ้าถูกกดดันจากนโยบายลดค่าไฟ, กลุ่มปิโตรเคมีเผชิญเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, กลุ่มส่งออกเจอ Global Minimum Tax, กลุ่มแบงก์เผชิญการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ส่วนกลุ่ม ICT ราคาก็เริ่มอิ่มตัว สิ่งที่ต้องดูหลังจากนี้คือนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีอะไรหวือหวาออกมาหรือไม่”
ส่วนกลุ่มที่อาจจะยังพอลงทุนได้ในไทยต้องมองหาหุ้นที่สามารถลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้ แทนที่จะสร้างการเติบโตของรายได้เป็นหลัก
สรพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นไทย ทำให้การลงทุนในฝั่ง Short ได้เปรียบฝั่ง Long
- บอนด์ยีลด์สหรัฐอเมริกายังสูง เพราะแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ลดลงจาก 3 ครั้ง มาเหลือ 2 ครั้ง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากต้นปีเป็นช่วงฤดูกาลจ้างงาน รวมทั้งแรงหนุนจากราคาสินทรัพย์อย่างบิทคอยน์ ทองคำ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำจุดสูงสุดใหม่
- เม็ดเงินจากกองทุน LTF ครบกำหนดที่จะขายปีนี้ อาจจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาทเฉพาะในไตรมาสแรก แม้ผู้ลงทุนจะขาดทุนประมาณ 15-20% แต่ดูเหมือนนักลงทุนจำนวนมากจะมีความคิดว่ายอมขายตัดขาดทุนเพื่อไปลงทุนต่างประเทศแทน
ส่วนแรงซื้อกองทุน ThaiESG หากเทียบกับปีก่อนที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าเข้าลงทุนในหุ้นเพียง 7 พันล้านบาท หากคาดหวังเม็ดเงินเท่าเดิมจะทำให้แรงขายจากกองทุนมากกว่าแรงซื้อ
- ไทยกำลังปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพราะเม็ดเงินขาดดุลนโยบายการคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เราอาจจะเห็นบริษัทที่ส่งออกตั้งสำรองภาษีส่วนนี้เพิ่มในไตรมาสแรก และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) อาจจะชะลอลง หลังจาก 1-2 ปีที่ผ่านมามี FDI เข้ามา 7-8 แสนล้านบาท ส่วนการอุดหนุนจากภาครัฐก็ยังไม่ชัดเจน
- การเติบโตของการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ไทยน่าจะเติบโตเพียง 1-2% ซึ่งโดยปกติแล้วจะเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกับดัชนี หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตยาก