×

ตลาดหุ้นไทยระส่ำ! ดิ่งนิวโลว์ในรอบเกือบ 4 ปี ผวาปัจจัยลบเพียบ หวั่นแทรกแซงแบงก์ชาติไม่จบ-หลายสัญญาณการเมืองส่อร้อน

07.06.2024
  • LOADING...
SET Index

SET Index วานนี้ (6 มิถุนายน) ปิดที่ 1,328.41 จุด ลดลง 9.91 จุด หรือ -0.74% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 45,540.12 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นไทยมากที่สุด มูลค่า 3,184.65 ล้านบาท โดยตลาดหุ้นไทยปิดวานนี้ ดัชนีทำนิวโลว์ในรอบประมาณ 3 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ดัชนีฯ เปิดตลาดอยู่ที่ 1,330.53 จุด และปิดตลาดอยู่ที่ 1,341.24 จุด 

 

ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลงแรง ถือว่าแย่ที่สุดในภูมิภาค

เนื่องจากถูกกดดันจากกระแสข่าวที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลเตรียมเสนอชื่อ 2 บุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาลเป็นแคนดิเดต ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่มาแทน ปรเมธี วิมลศิริ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ที่กำลังจะครบวาระในเดือนกันยายนนี้ หลังจากรัฐบาลและ ธปท. มีความขัดแย้งด้านนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อความเป็นอิสระของ ธปท. ทำให้ภาพการลงทุนช่วงนี้อาจดูไม่น่าสนใจ 

 

อีกทั้งยังมีปัจจัยลบ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีทางการเมืองสำคัญคือ คำร้องยุบพรรคก้าวไกล, การพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคดีที่อัยการสูงสุดจะส่งฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร ความผิดมาตรา 112 โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี อาจมีผลต่อการอภิปรายงบประมาณปี 2568 ในวันที่ 19-21 มิถุนายนนี้

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาด ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งแรก

 

ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า คาดว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีทิศทางดีกว่าครึ่งแรกของปีนี้ ด้วยปัจจัยสำคัญด้านเศรษฐกิจที่เข้าสนับสนุนตลาดหุ้น ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าไฮซีซันในไตรมาส 4/67 

 

การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะทยอยออกมาตั้งแต่ไตรมาส 2-3/67 เป็นต้นไปต่อเนื่องถึงปี 2568 รวมถึงติดตามการดำเนินนโยบายของดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการปรับลดดอกเบี้ย จะถือเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในเชิงบวกต่อตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

 

สำหรับภาวะการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนพฤษภาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,345.66 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยมาจากปัจจัยกดดันหลักที่ Fed มีท่าทีชัดขึ้นว่าจะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ (Higher for Longer) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

ขณะที่มีการปรับมุมมองจากเดิมที่คาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2-3 ครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเหลือเพียง 1 ครั้งในเดือนธันวาคมนี้ หรือคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม หลังจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังกดไม่ลงตามเป้าหมายระยะกลางที่ตั้งไว้ที่ระดับ 2% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.5%

 

เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหรือทะเลแดง ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูง กระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว 

 

โดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2567 จะมีปัจจัยการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเชื่อว่านโยบายดอกเบี้ยจะยังไม่เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมมากนัก ประกอบกับอัตราการจ้างงานในเดือนเมษายนปีนี้ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาด ดังนั้นยังติดตามการประชุมของ Fed ในช่วงสัปดาห์หน้าเพื่อจับท่าทีในการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายด้านการเงินในระยะต่อไป

 

ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยออกมาในระดับดี โดย GDP ไตรมาสที่ 1/67 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.8% หลังได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มเป็นบวกเดือนแรกหลังหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออก 

 

อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/67 โดยภาพรวมมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนเกินครึ่งรายงานกำไรสุทธิสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ Valuation ของหุ้นไทยหลายเซ็กเตอร์ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

 

ต่างชาติขายสุทธิ เหตุ MSCI Rebalance

 

ศรพลกล่าวต่อถึงกรณีในเดือนพฤษภาคมปีนี้ที่พบว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง 16,566 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 81,641 ล้านบาท เนื่องจากเกิดการ MSCI Rebalance ของดัชนี MSCI ซึ่งโดยปกติกองทุนขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม Passive Fund จะปรับน้ำหนักการลงทุน ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมกับพฤศจิกายนของทุกปี โดยการ Rebalance ในรอบที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีน, อินโดนีเซีย, ไทย และอีกหลายตลาดหุ้น ถูกลดน้ำหนักการลงทุน โดยไปเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นอินเดีย ส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นที่ลดน้ำหนักถูกขายออกเพื่อย้ายเงินลงทุนไปในตลาดที่ได้รับการเพิ่มน้ำหนักแทนคือ ตลาดหุ้นอินเดีย

 

นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปนำเสนอข้อมูล (Road Show) กับนักลงทุนสถาบันที่ฮ่องกง โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมบรรยายให้ข้อมูล (Speech) ในงานนี้ด้วย โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นโดยธนาคารยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศขนาดใหญ่มาร่วมรับฟังข้อมูลจำนวน 3,000 กองทุน

 

ทั้งนี้ กองทุนที่เข้าร่วมงานจะได้อัปเดตข้อมูลต่างๆ รวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดทุนของไทยจากนายกรัฐมนตรี ขณะที่จุดขายสำคัญของไทยที่เป็นที่สนใจคือ ไทยไม่ได้มีนโยบายที่อ้างอิงขึ้นประเทศใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก เพราะมีการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับทุกประเทศที่ทำการค้าด้วย สะท้อนจากตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปีนี้ที่เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น 

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีโอกาสอธิบายมาตรการต่างๆ ที่ทยอยประกาศออกมา เพื่อป้องกันการสร้างความไม่เป็นธรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จำกัดใช้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวที่ออกมา อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจไทยที่เป็นแหล่งของพลังงานสะอาดอีกด้วย

 

การเมืองไม่กระทบตลาดหุ้นไทย

 

ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การ Road Show ที่ประเทศสิงคโปร์ มีกองทุนขนาดใหญ่ เช่น กองทุน Fidelity, กองทุน BlackRock, J.P. Morgan Asset Management และกองทุนขนาดใหญ่อื่นๆ อีกหลายแห่งที่เข้ามารับฟังข้อมูล อีกทั้งในอนาคตวางแผนจะออกไป Road Show เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

 

อีกทั้งเตรียมจัดงาน Thailand Focus 2024 โดยจะเชิญนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมงาน ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

 

สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนหลายประเด็นเกิดขึ้นในช่วงนี้ มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่ดีขึ้น

 

สำหรับกรณีที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของภาครัฐบาลกับ ธปท. นั้น มีมุมมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 2.5% ถือว่าต่ำมาก ดังนั้นทั้งการปรับขึ้นหรือลงจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก หากเทียบกับช่วงที่มีภาวะดอกเบี้ยสูง ดังนั้นความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันของรัฐบาลกับ ธปท. ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

 

ด้านความคืบหน้าในการเลือกผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรรหา คาดว่าจะทราบผลการสรรหาได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising