×

สรุปประเด็น ‘เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน’ 6 หัวข้อสัมมนา 30 วิทยากรด้านการเงินการลงทุนจากเวที SET in the City 2021 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
25.11.2021
  • LOADING...
SET in the City 2021

‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)’ จัดงานสัมมนาออนไลน์ SET in the City 2021 เพื่อมองหา ‘เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน’ ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ Virtual Conference เพื่อเตรียมตั้งรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ อะไรคือทิศทางการลงทุนที่น่าสนใจในปี 2022 หุ้นธีมไหนน่าสนใจเมื่อตลาดหุ้นไร้พรมแดน หรือเครื่องมือการลงทุนแบบไหนที่นักลงทุนต้องมีเพื่อให้การลงทุนสะดวก ง่าย และลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น



ประเด็นทั้งหมดถูกแบ่งเป็น 6 หัวข้อ โดยมี 30 วิทยากรด้านการเงินการลงทุน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และชี้แนะทิศทางการลงทุนร่วมกัน ฉายภาพที่ชัดเจนให้แก่นักลงทุนได้มองเห็นโอกาสการลงทุนนับจากนี้ต่อไป และนี่คือประเด็นสำคัญในงาน SET in the City 2021 ‘เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน’ ที่ THE STANDARD ย่อยมาให้แล้ว

 


หัวข้อ: ‘เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022’

โดย ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

“ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในปีนี้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เติบโตราว 6% ขณะที่จีนเติบโตต่อเนื่อง 8% แต่การฟื้นตัวก็มาพร้อมโอกาสและความเสี่ยง โอกาสคือความสามารถในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้นและการลงทุนจากต่างชาติ ความเสี่ยงคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมัน หรือวัตถุดิบต่างๆ เชื่อว่าจะไม่กลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 รวมถึงค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

 

“ต้องจับตาดูค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้า (2565) ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 คาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

 

“เมื่อเงินดอลลาร์แข็งตัวก็จะส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง คาดการณ์ปี 2565 เงินบาทจะอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออก แต่การนำเข้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง

 

“มองเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาฟื้นตัว GDP จะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2566 ปีนี้การส่งออกจะโตราว 15% และปี 2565 จะโตไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2566 ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566”

 

ไทยเตรียมรับมือกับ 8 เทรนด์ใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุน

  1. สงครามเทคโนโลยีและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
  2. เทคโนโลยีที่กำลังมาในอีก 10 ปี ได้แก่ AI, Quantum Computing, Regenerative Medicine, Autonomous Cars, Blockchain, Cyber Security, VR, Lithium Battery, Drones และ Conductive Polymers
  3. Digitalization จะเร่งขึ้น ทั้ง Online Commerce/Service, From-Home Economy และ Telemedicine
  4. Digital Asset ได้รับการยอมรับมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล, สกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น
  5. De-Carbonization จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ซึ่งในโลกอนาคตโดยเฉพาะโลกตะวันตกต้องการที่จะให้โลกมีการปล่อยคาร์บอนลดลง จากความต้องการสินค้าชีวภาพในโลกเพิ่มขึ้น
  6. เทรนด์ของ ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น
  7. สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้น โดยไทยเองก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 2565 อย่างเต็มรูปแบบ
  8. ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตโควิด-19 

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

“ภาพการลงทุนปี 2565 เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นคาดว่าการฟื้นตัวของผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ผลตอบแทนบางอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่มีบางอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนเริ่มฟื้นตัวแล้ว และบางอุตสาหกรรมการฟื้นตัวของผลตอบแทนทำได้ดีกว่าการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโดยรวม

 

“ช่วงปี 2555-2564 การระดมทุนในตลาดแรก (IPO) และตลาดรอง (SO) ของ SET ช่วยให้ธุรกิจหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพรวมการลงทุนในตลาดรองมีมูลค่าเยอะกว่าปี 2021 ลงทุนใน IPO 26 บริษัท 2,337 ล้านดอลลาร์ ในตลาด SO 177 บริษัท 2,479 ล้านดอลลาร์

 

“ปริมาณนักลงทุนรายย่อยปี 2563 และ 2564 เพิ่มมากกว่า 3.5 แสนบัญชี และในปี 2564 เพิ่มกว่า 1.4 ล้านบัญชี นักลงทุนรายย่อยสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ 47% ของตลาด และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศอยู่ที่ 37% และสัดส่วนนักลงทุนที่ใช้ออนไลน์เทรดดิ้งเพิ่มสูงขึ้น 86%

 

“ผลตอบแทนของดัชนี SET (SET Index) ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ขณะที่ผลตอบแทนของกลุ่มที่ชนะ SET Index นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ที่ 47% กลุ่มเทคโนโลยี 45% และกลุ่มเกษตรและอาหาร 11% สูงกว่าผลตอบแทน SET มีสภาพคล่องสูงขึ้นต่อเนื่อง และในปี 2021 ยังคงมีสภาพคล่องสูงที่สุดในอาเซียน ช่วงปีที่ผ่านมาเทรนด์ในตลาดที่มีสภาพคล่องมีการปรับตัว

 

“พบว่าบริษัทจดทะเบียนที่ให้ผลตอบแทนดีส่วนใหญ่มีการออกไปลงทุนต่างประเทศ และมีสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศในระดับที่สูง เนื่องจากได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกที่เติบโตดี

 

“ปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียน 312 แห่งที่เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศ มูลค่ากว่า 2.96 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในปีเดียวกัน โดยกลุ่มที่ทำรายได้จากต่างประเทศมากที่สุดคือกลุ่มภาคเกษตรและอาหาร 64% ภาคอุตสาหกรรม 49% และพลังงาน 25% หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวภาคธุรกิจดังที่กล่าวมาก็จะได้ประโยชน์

 

“ธีมการลงทุนที่เน้นธุรกิจที่มีรายได้จากต่างประเทศและเติบโตไปพร้อมเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวได้ดี (Global Economic Recovery) ให้ผลตอบแทนสูงชนะตลาด โดยหุ้นในกลุ่ม SET-Global Play ให้ผลตอบแทน 24% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และ SET-Global Play Mid & Small ให้ผลตอบแทน 53% สูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี SET โดยรวม (SET TRI) ในช่วงเวลาเดียวกันที่ 15% YTD

 

“นักลงทุนรายย่อยให้ความสำคัญกับการลงทุนยั่งยืนมากขึ้น มีมากกว่า 3,826 องค์กรที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19”

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐกิจ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

 

“ปีที่ผ่านมากลายเป็นปีที่ดีที่สุดของการลงทุนทั้งในหุ้นไทยหรือการลงทุนนอกประเทศ เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และการฟื้นตัวของโลกทำให้เราเห็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและข้อจำกัดด้านอุปทานเพิ่มมากขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วบางแห่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายปี เป็นประเด็นสำคัญที่จะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลัง รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประเด็นที่นักลงทุนสนใจ

 

“ด้านเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาหดตัวไป 6% คาดว่าน่าจะฟื้นตัวประมาณ 0.5% คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับ 3.9-4% ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อาจจะต้องใช้เวลาไปถึงปี 2566 ถึงจะฟื้นมาชดเชยกับที่หดตัวไปในปีที่ผ่านมา”

 

4 ประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวปี 2563 คือ

  1. การควบคุมการระบาดภายในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยว
  2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
  3. อัตราเงินเฟ้อโลก ค่าครองชีพ และกำไรของธุรกิจ
  4. อัตราดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น

 

ปัจจัยการลงทุนที่สำคัญปี 2565 ได้แก่

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
  2. เงินเฟ้อและผลกระทบต่อกำไร
  3. แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
  4. สิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า
  5. โลกหลังโควิดเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี 
  6. การลงทุนต่างประเทศ

 

“ประเด็นที่น่ากังวลคือ หากเงินเฟ้อสูงนานจะกดลงได้ลำบาก และอาจเหมือนสถานการณ์เมื่อปี 2513 ที่เงินเฟ้อสูงมากจนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงมากเพื่อกดเงินเฟ้อลงมา ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยไทยกำลังเจอความท้าทายจากวงจรเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้อง ประเทศใหญ่ต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มีผลต่อการกู้ยืมเงินของบริษัทและการลงทุนต่างๆ โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยเริ่มปรับขึ้นแล้ว”

 



หัวข้อ: ‘เทรนด์การลงทุนเมื่อตลาดหุ้นไร้พรมแดน’

โดย ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง, ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)


ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


“การลงทุนในตลาดต่างประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยงและทำให้พอร์ตเติบโต โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 เรื่องเทคโนโลยีและสุขภาพกำลังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น ดังนั้นประเทศที่มีอุตสาหกรรมในสองกลุ่มนี้จะทำให้ผลตอบแทนของดัชนีโดยรวมดีไปด้วย

 

“การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยมีมากขึ้น จากเดิมผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้นถึงจะลงทุนในตลาดต่างประเทศได้ ตอนนี้อนุญาตให้รายย่อยลงทุนได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ขยายวงเกินเป็น 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี ปัจจุบันนักลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศสูงสุดถึง 64% และมีมูลค่าเงินลงทุน ณ เดือนกรกฎาคม 2564 ราว 51,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 16.78% ซึ่งประเทศที่นักลงทุนไทยเลือกลงทุนมากสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ลักเซมเบิร์ก ฮ่องกง และจีน

 

“เทรนด์การลงทุนยังพบว่า ผู้ลงทุนไทยสนใจลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบจำนวนผู้ลงทุนปี 2020 กับปี 2021 เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งสินทรัพย์ที่มีการลงทุนเยอะที่สุดคือหุ้นต่างประเทศ โดย SET ได้สำรวจความต้องการจากกลุ่มผู้ลงทุน 1,593 ราย พบว่า นักลงทุนไทยที่เลือกลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและมองหาโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยสนใจลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐฯ อาทิ Apple, Google หรือในกลุ่ม Health Care & Biotech โดยจะเลือกลงทุนผ่าน Single Trading Platform แต่ยังมีอุปสรรคที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะลงทุนด้วยเงินไม่มากและซื้อเป็นเงินบาทได้ จึงต้องการ Fractional Unit หรือซื้อเป็นสัดส่วนของหุ้น”

 

นักลงทุนไทยทำได้ 3 ทางเลือก คือ

  1. ลงทุนในกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
  2. ลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 
  3. ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยที่มี Exposure ต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มี 3 ประเภทหลักทรัพย์ คือ ETF, DW และ DR 

 

“ตลาดหลักทรัพย์กำลังพัฒนา DR เพื่อออก Fractional DR เป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนสามารถซื้อขาย DR เป็นสัดส่วนหุ้น หรือซื้อขายเป็นจำนวนเงินได้ ซื้อขายผ่านบัญชีหุ้นไทย ใช้เงินน้อย มีเงินเท่าไรก็ลงทุนในหุ้นทั่วโลกได้ ซื้อขายตามเวลาตลาดหุ้นโลก”

 

ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)


“ตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ในต่างประเทศมีการเติบโตอย่างมาก ปัจจุบันนักลงทุนไทยรายย่อยมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจการลงทุนก่อนเข้ามาลงทุน ยิ่งการเข้ามาในตลาดทุนต่างประเทศความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เลือกถูกธีมแต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าเงิน เรื่องความเข้าใจ ข้อมูลที่นักลงทุนรายย่อยต้องรับทราบ สำคัญที่สุดในปัจจุบัน แนะใช้เครื่องมือทางการเงินหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจสภาวะแวดล้อม เศรษฐกิจโลก เข้าใจการเงินที่เคลื่อนย้ายในแต่ละปี เรียนรู้เรื่องการลงทุน ตามโลก ตามกระแส เพื่อการศึกษาและสื่อสารกับนักลงทุน”

 

บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง

 

“การลงทุนในเซกเตอร์ที่โตทั้งโลกคือเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ชัดเจนว่าหุ้นนี้มีการเติบโตที่ดี รวมถึง ESG แนะทางเลือกสำหรับนักลงทุนทั่วไป จะทำให้สามารถลงทุนต่างประเทศได้ง่ายๆ ได้แก่ กองทุน FIF เหมาะสำหรับนักลงทุนที่อาจไม่มีเวลามากนัก เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว แต่ราคาซื้อขายไม่ใช่ราคาเรียลไทม์

 

“ETF กองทุนรวมดัชนีที่ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีจำกัดแต่ก็เป็นตัวเลือกในการกระจายความเสี่ยง ซื้อขายเรียลไทม์ได้ ส่วน DW หนึ่งในประเภทหลักทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการเก็งกำไร อีกทั้งยังมี DW ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศ และจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย คนที่จะลงทุนแบบนี้ต้องเข้าใจรูปแบบผลตอบแทนให้ดี

 

“DR ปัจจุบันมีเพียงตัวเดียวที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง และอ้างอิงกับ ETF หรือหุ้นต่างประเทศขนาดใหญ่ ได้แก่ DR E1VFVN3001 เหมาะกับการลงทุนตั้งแต่สั้น-ยาว การลงทุนใน DR คล้ายกับการลงทุนใน ETF กระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

“DR ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมาก หากดูจำนวนนักลงทุนที่เข้าลงทุนใน DR และมูลค่าลงทุนเพิ่มมากขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564 AUM เพิ่มขึ้นแตะ 7,000 ล้านบาท ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจคือ DCA Daily on DR/ETF กำหนดเงินและซื้อซ้ำทุกเดือน ผลตอบแทนที่ลงใน DR E1VFVN3001 เติบโตที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบเดียวกันใน BSET100 และ BMSCITH คีย์หลักคือต้องเลือกกระจายให้ถูกที่ถูกเวลา”


ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)


“ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติ ได้แก่ ปี 2563 Deglobalization เป้าหมายของประเทศทั่วโลกเปลี่ยนไป ความเสี่ยงการเงินสูงขึ้น ปี 2564 Decentralization นักลงทุนได้ลองการลงทุนหลากหลาย ไม่ยึดติดสินทรัพย์เดิมอีกต่อไป และปี 2563 Disruption เทคโนโลยีก้าวกระโดดคาบเกี่ยวหลายอุตสาหกรรม ใครไม่เปลี่ยนอาจไม่ได้ไปต่อ

“เทรนด์ที่ชัดคือ นักลงทุนไม่มองหุ้นรายตัวแต่มองว่าธีมไหนกำลังมา ธุรกิจกองทุนช่วงที่ผ่านมาสร้างกองทุนทั่วโลกและเกาะธีมทำให้กำแพงการลงทุนเปลี่ยนไป กระบวนท่าการลงทุนต่างประเทศเปลี่ยน และมุมมองสัดส่วนการลงทุนก็เปลี่ยน

 

“ชี้ธีมที่น่าสนใจ โดยมองแบบระยะสั้น 3-12 เดือน พบว่า เงินเฟ้อปรับตัวสูง ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ต้องเตรียมพร้อมกับการฟื้นตัวของดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงขึ้น ช่วง 3-6 เดือนต่อจากนี้จะเป็นช่วงช้อปปิ้งของนักลงทุน เงินในกระเป๋ามีก็อยากลงทุน

 

“อีกธีมที่ฮิตมากๆ ในปี 2564 คือ ธีมลงทุนในอนาคต คล้ายกับกองทุนและคล้ายกับหุ้นรายตัว มี 6-7 ธีมที่ชัดเจนและโดดเด่น ได้แก่ Genomic, Robotic, Cloud, E-Sport, Blockchain และ Renewables Energy”

 

 

หัวข้อ: ‘ลงทุนทันเทรนด์’ Stock Pick Up

 

โดย อภิชาติ ผู้บรรเจิด ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้, เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส และ อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี

 

3 ธีมการลงทุนที่น่าจับตามอง ได้แก่ New S-Curve, ESG & พลังงานสะอาด และ Reopening

อภิชาติชี้หุ้นเด่นน่าลงทุนรับ New S-Curve ได้แก่

  1. Advace บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 205 บาท
    2. JWD บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 20 บาท
    3. HANA บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 90.25 บาท 

เอนกพงศ์วิเคราะห์หุ้นดีน่าลงทุนอย่างยั่งยืนแบบ ESG เคาะ 3 หุ้นเด่นในธีม ESG & พลังงานสะอาด ได้แก่

  1. TU บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 26 บาท
    2. NER บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 10.20 บาท
    3. TIDLOR บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 46 บาท 

อาทิตย์แนะจับตาหุ้นฟื้นน่าสะสมรับ Reopening
1. AOT บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 78 บาท
2. HMPRO บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2022 อยู่ที่ 17 บาท
3. AMATA บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 2022 อยู่ที่ 23.50 บาท 

 

 

หัวข้อ: ‘ลงทุนทันเทรนด์’ Fund Pick Up

 

แนะกองทุนเด่น เน้นผลตอบแทน โดยผู้บริหารกองทุน

 

  • กองทุนทดแทนเงินฝากได้ / ให้ปันผลต่อเนื่อง
    TSF-A ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ (A)
    SCBSETE กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์)
    LHGROWTH-D กองทุนเปิด แอล เอช โกรท ชนิดจ่ายเงินปันผล
    M-MIDSMALL-D กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป ชนิดผู้ลงทุนทั่วไปรับเงินปันผล 
  • กองทุนมั่งคั่ง ยั่งยืน กับธุรกิจยั่งยืน
    K-CHANGE-A (A) กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เซนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า
    KKP SET50 ESG กองทุนเปิดเคเคพี SET50 ESG 
  • กองทุนเกาะติดเทรนด์โลก ต้องมีติดพอร์ต
    TMBGQ กองทุนเปิดทหารไทย Global Quality Growth
    INNOTECH กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี
    ONE-UGG-RA กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป

 

 

หัวข้อ: ‘โลกเปลี่ยน ต้องปรับ รับโลกลงทุนใหม่ ใน New Normal’

  
โดย ทิป-มัญฑิตา จินดา Founder of Digital Tips Academy, รวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด / เจ้าของเพจและพอดแคสต์ Mission To The Moon, ภก.กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด / เจ้าของเพจและพอดแคสต์ Mission to The Moon

 

“โลกหลังจากนี้จะทรานส์ฟอร์มไม่มีวันจบ ต้องถามตัวเองว่าความรู้ของเรายังเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ต้องคิดว่าจะปรับและเรียนรู้เรื่องอะไร ทุกธุรกิจผู้นำต้องไม่หยุดเรียนรู้ ในฐานะคนที่ตัดสินใจ ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีไหนจะมาช่วยธุรกิจเราได้ แล้วค่อยไปทรานส์ฟอร์มองค์กร สิ่งสำคัญคือความสำเร็จในอดีตไม่การันตีความสำเร็จในวันนี้ หลายธุรกิจลงเหวเพราะยึดติดกับความสำเร็จในอดีต อนาคตต่อจากนี้คือการล้มไปเรื่อยๆ และทดลองไม่สิ้นสุด

  

“การเปลี่ยนแปลงต้องโฟกัสที่กระบวนการ อย่าโฟกัสที่ผลลัพธ์ ลองใช้ชีวิตแบบ No Zero Day อย่าให้วันไหนผ่านไปโดยที่คุณไม่ได้ทำสิ่งที่คุณควรจะทำ ช่วยให้เราเตือนตัวเอง พอทำไปสักพักเราจะอยากทำมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนก็เช่นกัน สิ่งสำคัญคือวินัยในการใส่เงินและปรับพอร์ตให้เหมาะกับเป้าหมาย

 

“หากต้องเลือกลงทุนสักอย่าง จะเลือกลงทุนกับความรู้ เพราะความรู้จะทำให้เราลงทุนกับเรื่องอื่นต่อได้”

 

ภก.กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์ 


“2 ปีที่ผ่านเราเจอวิกฤต เป็นเวลาที่ต้องกลับมาถามตัวเองว่ากลยุทธ์การลงทุนเราเป็นแบบไหน การจัดสรรพอร์ตเป็นอย่างไร นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีกลยุทธ์การลงทุนที่แน่นอน จะซื้อหุ้นเมื่อไร จะถือหุ้นอย่างไร และจะขายหุ้นเมื่อไร

 
“กับดับของนักลงทุนทั่วโลกคือ ความเข้าใจที่ว่า ความรู้ด้านการลงทุนค่อนข้างนิ่ง และหุ้นบ้างตัวถือได้ทั้งชีวิต ปัจจุบันแนวคิดนี้ไม่ใช่อีกต่อไป โลกทุกวันนี้การแข่งขันไม่เหมือนเดิม เราต้องปรับเทรนด์การลงทุนของตัวเอง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไม่ได้คือ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่อโลกเราเป็น Global Investor ทุกปัญหาส่งผลต่อการลงทุน เปิดหูเปิดตาจะมองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ

 

“ธรรมชาติของนักลงทุนจะไม่ค่อยเปลี่ยนหรือปรับอะไรเร็ว นักลงทุนมักจะมองสิ่งที่ตัวเองได้รับมา แต่ไม่ตั้งคำถามว่าแล้วอะไรที่เราเสียไปหากเราพลาดการลงทุนใหม่ๆ เมื่อไม่ลองพาตัวเองไปที่ใหม่ๆ จะเข้าใจว่าพื้นที่เดิมๆ คือคอมฟอร์ตโซน ถ้าเป็นสมัยก่อนที่เทรนด์เปลี่ยนช้าอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในวันที่โลกเปลี่ยนเร็ว หากคุณไม่ขยับอีกหน่อยคุณจะไม่รอด ต่อให้ย้ายไปแหล่งใหม่ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อย้ายอีกในเวลาอันใกล้ ต้องปรับตัวกับเทรนด์โลกให้เร็ว


“การลงทุนในทัศนคติของตัวเองจะทำให้เราอยู่กับโลกใบนี้ได้ ต้องมีความนอบน้อมต่อตลาดหุ้น เชื่อเถอะว่าตลาดหุ้นฉลาด เราต้องเรียนรู้จากตลาด ถ้าเรามี Mindset แบบนี้จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและตามโลกได้ทัน”

 

ทิป-มัญฑิตา จินดา Founder of Digital Tips Academy

 

“โลกตอนนี้มีแค่ Plan A อาจไม่พอ ทุกธุรกิจต้องปรับตัวต่อเนื่องและต้อง Reskill & Upskill อุดรอยรั่วของธุรกิจ กลับมาดู Data เพื่อมองหาการเติบโตโดยที่ยัง Lean อยู่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ละธุรกิจเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีต่างกัน โดยเริ่มต้นดูว่าโปรดักต์ของเราคืออะไร และลูกค้าเราอยู่ที่ไหน

 

“ต้องรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี ระวังปรากฏการณ์ Filter Bubble หรือฟองสบู่ตัวกรอง หมายถึง อัลกอริทึมจะกรองให้หมด ข้อเสียคือ ถ้าติดอยู่ในนั้นจะเริ่มไม่ค่อยรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร เราจะอยู่แต่ในโลกที่เราต้องการมองเห็น แวดล้อมไปด้วยคนที่พูดเรื่องเดียวกัน สนใจเรื่องเดียวกัน ในฐานะนักการตลาดต้องเอาตัวเองไปสำรวจเยอะ ลองถอดตัวเองแล้วมองในมุมผู้บริโภค อย่าติดกับดับตัวเอง สิ่งที่เคยสำเร็จในอดีตอาจกลับมาทำร้ายเราก็ได้ถ้าเราไม่ปรับตัวให้เร็วพอ

 

“แง่คิดในการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากการรู้ว่าเปลี่ยนทำไม ต่อมาคือเวลาเจองานท้าทาย ให้บอกตัวเองว่า One at a time เราไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งก้อนได้ แต่ค่อยๆ ทำได้ สุดท้ายคือฝึกตัวเองให้เป็นคนที่รู้จักตั้งคำถามอยู่เสมอ เพราะคำถามที่ดีจะทำให้เรามีชีวิตที่ดี” 

 

 

หัวข้อ: เมื่อชีวิต…ต้องคิดลงทุน’


โดย ยศสรัล พิเชียรสุนทร เจ้าของร่วมเพจ เด็กการเงิน Dek Finance, พญ.อรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร เจ้าของเพจ หมอยุ่งอยากมีเวลา และ ก้อง-จรงกิจ ศิริมงคลเกษม Game Caster / YouTuber AdK ก้องไก่กุ้กๆ

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

ยศสรัล พิเชียร์สุนทร เจ้าของร่วมเพจ เด็กการเงิน Dek Finance

 

“เป้าหมายในชีวิตอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นลงทุน สำหรับคนรุ่นใหม่ อยากให้มองการลงทุนเป็นอีกส่วนที่ทำให้มั่นคงมากขึ้น อย่ารอให้ถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีประสบการณ์ ความรู้ในการลงทุนเหมือนต้นทบดอก ยิ่งสะสมก็ยิ่งได้ แนะนักลงทุนที่เริ่มต้น ใฝ่รู้ตลอดเวลา มีวินัยทำต่อเนื่อง และต้องรู้จักตัวเองเพื่อค้นหาว่าคุณเป็นนักลงทุนแบบไหน มือใหม่สามารถเข้าไปทดลองเทรนด์ก่อนลงสนามจริง เช่น DCA Simulation แต่ถ้าอยากเริ่มแล้วให้ลองลงทุนด้วยขั้นต่ำ ปัจจุบันมีกองทุนที่ใช้ขั้นต่ำ 1 บาท”

 

พญ.อรพรรณ คงพันธุ์วิจิตร เจ้าของเพจ หมอยุ่งอยากมีเวลา

 
“เจอจุดเปลี่ยนของชีวิตทำให้ต้องมาเริ่มคิดใหม่ทั้งเรื่องสุขภาพ ครอบครัว การงาน และการเงิน เมื่อเริ่มเรียนรู้การลงทุน ค่อยๆ ฝึกและทยอยลงทุน เริ่มเข้าใจว่าทำไมหลายคนไม่เข้าลงทุนเพราะมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก ถ้าเราอธิบายให้คนอื่นฟังแบบง่ายๆ ได้คงดี ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่สนใจมาปรึกษาเรื่องการเงินมากขึ้น และเริ่มลงทุนด้วยความรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ได้เปรียบเรื่องของเวลาในลักษณะดอกเบี้ยทบต้น ไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพไหน ทักษะการลงทุนเป็นทักษะที่พัฒนาได้

 

“ตอนนี้มองตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจ เพราะสามารถหาข้อมูลได้ ไปลองใช้ผลิตภัณฑ์ ใช้สถานที่ได้ก็เป็นข้อดี แต่ไทยอาจเด่นแค่บางอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนในต่างประเทศก็น่าสนใจ เพราะไทยยังไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดด การลงทุนต่างประเทศจึงเป็นการเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงที่ดี”

 

ก้อง-จรงกิจ ศิริมงคลเกษม Game Caster / Youtuber AdK ก้องไก่กุ้กๆ

 

“เริ่มต้นลงทุนเพราะเริ่มคุยกับตัวเองว่าอยากมีรายได้เท่าไรถึงจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เมื่อพบว่าการทำงานอย่างเดียวอาจไม่พอ การลงทุนน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเริ่มลงทุนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย คนที่เริ่มสนใจแผนการเงินของใครของมัน เป้าหมายแต่ละคนต่างกัน เพราะจะนำไปสู่การลงทุน การจัดพอร์ตและบริหารความเสี่ยงที่ต่างกัน ของแบบนี้ต้องเข้ามาศึกษาและทดลองเองว่าจุดที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้คืออะไร” 

 

 

หัวข้อ: ‘Smart to Invest ด้วยเครื่องมือลงทุนหุ้น กองทุน’

แบ่งเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่

 

1. เลือกได้ ใช้เป็น เจาะเครื่องมือสแกนกองทุน โดย น.สพ.ธนัฐ ศิริวรางกูร (หมอนัท) คลินิกกองทุน

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)


หมอนัทให้เทคนิคเลือกกองทุนสไตล์ ‘คลินิกกองทุน’ โดยดูจาก 3 ส่วน คือ

  1. Return หากองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังสม่ำเสมอ 3.5 ปี
  2. Style เลือกที่ชอบ เลือกที่ใช่
  3. Fee ค่าธรรมเนียมถูกและดี

โดยเครื่องมือที่แนะนำในการค้นหากองทุนสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์การเงินมากมายที่ให้บริการฟรี อาทิ Settrade มีบริการเปรียบเทียบกองทุน ดูผลตอบแทนย้อนหลังได้, SET SMART มีให้บริการกองทุนรวมและเปรียบเทียบกองได้เช่นกัน หรือ Moring Star ถือเป็นแหล่งรวมกองทุนรวมและ ETF และแอปพลิเคชัน Streaming Fund+ ฟีเจอร์ครบถ้วน ดูข้อมูลกองทุนรวม ดูพอร์ตสถานะ ค้นหาพอร์ต และเปิดบัญชีได้เลย 

 

เมื่อเลือกกองทุนผ่านเครื่องมือเบื้องต้นได้แล้ว หากต้องการศึกษากองทุนที่เลือก เครื่องมือสแกนกองทุนที่ดีที่สุดคือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปการลงทุนและเอกสารอื่นๆ และหากถ้าต้องการสแกนกองทุนรวมต่างประเทศ ต้องหา Master Fund ให้เจอ จากนั้นถ้าต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมให้นำหมายเลข ISIN ไปดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ที่เว็บไซต์ trustnetoffshore.com, Funds.ft.com และ bloomberg.com 

 

“สรุปเลือกกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมาย และค่อยเลือกเครื่องมือต่างๆ ในการหาข้อมูลและเปรียบเทียบโดยใช้เกณฑ์ RSF และต้องอ่านหนังสือชี้ชวนทุกครั้ง อ่านค่าธรรมเนียมความเสี่ยงให้ดี เพื่อทำความเข้าใจกองทุนรวมที่คุณจะลงทุนมากขึ้นและลงทุนได้อย่างสบายใจ”

 

2. DIY สแกนหุ้นอินเทรนด์ ด้วยเครื่องมือเทรด โดย คณุตม์ บุญกลิ่นขจร จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, อุทัยวรรณ ชื่นชม จาก บริษัท ไทยเควสท์ จำกัด และ วชิรเมษฐ์ ธเนศสถิตพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท อีฟิน โกลด์ จำกัด และอาจารย์ efin

 

คณุตม์อัปเดตเครื่องมือสตรีมมิงบนพีซีเวอร์ชันใหม่ล่าสุด ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้นักลงทุนใช้งานได้ง่ายขึ้น อาทิ ‘Quote’ ที่มีปรับฟีเจอร์ภายในโหมดนี้เพื่อหาข้อมูลหุ้นได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น อย่างการดู Financial Statements ได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนไปที่หน้าจออื่น หรือนักลงทุนสามารถกดปุ่ม Alert เพื่อเลือกเงื่อนไขราคาหุ้นที่เราต้องการกำหนดให้แจ้งเตือนได้ทันที ใส่ได้สูงสุด 10 เงื่อนไข หรือการตั้ง Conditional Order ก็เป็นอีฟีเจอร์ที่ช่วยให้นักลงทุนตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า เช่น เมื่อไรก็ตามที่หุ้นถึงราคาที่กำหนดให้ส่งเข้าตลาดทันที อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ Stock Screener เครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถค้นหาหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายที่นักลงทุนน่าจะได้ลองใช้งานคือ Click ทำให้นักลงทุนทำการส่งซื้อ-ขายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่บางฟีเจอร์จะเปิดให้ใช้ภายในปลายปีนี้ 

 

อุทัยวรรณแนะนำเครื่องมือเทรด Aspen โดยเน้นคีย์หลักสำหรับนักลงทุนที่อยากสแกนหุ้นให้อินเทรนด์จากหุ้นกว่า 2,000 ตัวในตลาด ด้วย 4 โหมดหลักๆ

  1. Ranking มีการจัดอันดับข้อมูลเรียลไทม์เพื่อดูว่ามีหุ้นอะไรที่กำลังอินเทรนด์ เช่น หุ้นไหนราคาขึ้น
  2. NVDR ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนการซื้อ-ขายหุ้นรายตัวนักลงทุนต่างชาติ
  3. Watch List ช่วยจัดอันดับข้อมูลตามกลุ่มที่สนใจ เช่น กลุ่มสถาบันการเงินที่มีปันผลสูงสุดจากมากไปน้อย
  4. Market Screener สามารถสกรีนหุ้นเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไข Fundamental, Candlesticks, Technical หรืออื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแจ้งเตือนได้ สำหรับนักลงทุนมือใหม่ เมื่อเข้าไปในโหมดนี้ จะมี Tab ที่ชื่อ Predefined Screener ที่มีการตั้งค่าเงื่อนไขที่น่าใจไว้แล้ว เช่น เงื่อนที่มีปันผลสูง

    สุดท้าย วชิรเมษฐ์แนะวิธีใช้ efin Stock Pick Up ในการวิเคราะห์ Fund Flow เพื่อดูว่าส่วนใหญ่แล้วกระแสไปลงทุนในสินทรัพย์ใด ไปพร้อมๆ กับแนะนำวิธีลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศด้วยเครื่องมือค้นหากองทุน ที่จะช่วยให้นักลงทุนค้นหากองทุนที่ต้องการผ่านฟังก์ชัน Fund Ranking โดยการใช้งานสามารถแสดง Time Frame เพื่อดูข้อมูลต่างช่วงเวลากันได้เพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจลงทุน  

 

ผู้ที่สนใจอยากชมงานสัมมนาออนไลน์ ‘SET in the City 2021’ ย้อนหลังแบบเต็มๆ ตลอด 2 วัน สามารถติดตามได้ที่ Facebook: SET Thailand และ YouTube: SET Thailand

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising