×

‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ แบบทดสอบออนไลน์วัดความรู้และทักษะ การเงิน ด้วยตัวเอง

03.08.2022
  • LOADING...

สถานการณ์ทาง การเงิน ของคนไทยยังคงเปราะบาง และเป็นที่น่ากังวลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สถานการณ์โควิด ที่ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าคนไทยจำนวนมากยังมี ‘ความทุกข์ทางการเงิน’ ไม่ว่าจะเป็นการมีหนี้สิน การขาดเงินออม การมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ฯลฯ ที่อาจมีหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ และจากปัจจัยภายใน เช่น ความจำเป็นในการดำรงชีวิตของครอบครัว ความรู้การเงินขั้นพื้นฐานยังไม่เพียงพอ วินัยทางการเงินยังไม่เข้มแข็ง เป็นต้น

 

ปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคลเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการบริหารจัดการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีสำหรับคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักองค์กรหนึ่งของเศรษฐกิจไทย จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนแก่คนไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดกว่า 2 ทศวรรษ โดยดำเนินการจัดทำหลักสูตรและสื่อเรียนรู้ต่างๆ เช่น E-Learning กิจกรรมอบรม สัมมนา ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อินโฟกราฟิก คลิป เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง เพียงพอที่จะดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีความสุข


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ยังมีโจทย์ใหญ่สำหรับทั้งผู้เรียนรู้ และผู้พัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ นั่นคือความรู้ที่ได้รับนั้นอยู่ในระดับที่เพียงพอหรือไม่ และเมื่อมีความรู้แล้วสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ที่ไม่อาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จ หากความรู้ที่ได้รับไม่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการเงินของตนเองได้ วางเป้าหมายทางการเงินส่วนตัวเป็น ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จทางการเงินส่วนบุคคลได้ 

 

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้ทางการเงิน ด้วยการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่น Happy Money Application ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบันทึกรายรับ-รายจ่าย ชุดคำถามออนไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดเป้าหมาย ทบทวนพฤติกรรม ตรวจสอบสถานะการเงิน และประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน เป็นต้น 

 

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำแบบทดสอบวัดระดับความรู้และทักษะการเงินในรูปแบบออนไลน์ (Financial Literacy Assessment) สำหรับคนไทย ภายใต้ชื่อ ‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือวัดระดับความรู้เกี่ยวกับการเงินในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ผู้สนใจสามารถเข้าทดสอบได้ตลอดเวลา ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถทราบผลได้ทันทีว่าประเด็นด้านการบริหารจัดการเงินพื้นฐานด้านใดที่ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หรือยังเข้าใจไม่ถูกต้อง (Gaps) หลังจากทราบผลแล้ว ระบบจะเชื่อมโยงต่อไปยังแหล่งความรู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นๆ เพื่อให้ผู้ทดสอบเรียนรู้เพิ่มเติมได้เอง ผู้ทดสอบ ‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ จะต้องตอบคำถามความรู้ทางการเงินในชีวิตประจำวัน 6 ด้าน คือ 1. การบริหารรายรับ 2. การบริหารรายจ่าย 3. การบริหารหนี้สิน 4. การบริหารเงินออม 5. การบริหารการลงทุน และ 6. การบริหารความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สิน ผลจะแสดงเป็นระดับความรู้ 3 กลุ่มตามระดับคะแนน ได้แก่ 1. กลุ่ม Newcomer เริ่มรู้ 2. กลุ่ม Explorer เรียนรู้ หรือ 3. กลุ่ม Challenger รอบรู้ รวมทั้งสามารถรับ Digital Badge หรือ E-Certificate เพื่อเก็บเป็นประวัติส่วนตัวได้อีกด้วย 

 

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันเปิดให้บริการ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้ทำแบบทดสอบ ‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ สะสม (แบบไม่นับซ้ำ) รวมทั้งสิ้น 11,391 คน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ SET Fin Quizz (finquizz.set.or.th), เว็บไซต์ห้องสมุดมารวย (maruey.com), เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ (set.or.th) และเว็บไซต์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญ และด้วยจำนวนตัวอย่างที่มากกว่าหมื่นรายดังกล่าว ทำให้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับระดับความรู้ของคนไทยจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้นำมาวิเคราะห์แล้วมีความน่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแนวทางพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรด้านการเงินและการลงทุนให้ตอบโจทย์ สามารถยกระดับความรู้ของประชาชนทั่วไปได้ จึงขอนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้

 

ผู้ทำแบบทดสอบเป็นเพศหญิง 64.1% ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และพบว่า 63.5% ของทั้งหมด 11,391 คน เป็นนักเรียนนักศึกษา โดยเมื่อพิจารณาตามช่วงวัยของผู้ทำแบบทดสอบ พบว่า 86.3% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Y และ Gen Z สำหรับภูมิลำเนาของผู้ทำแบบทดสอบนั้น มีประมาณ 66.2% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคหรือต่างจังหวัด

 

ผลการทดสอบของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวพบว่า 74.5% ของผู้ทำแบบทดสอบมีความรู้ด้านการเงินในชีวิตประจำวัน และทักษะคณิตศาสตร์การเงินขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับดีถึงดีมาก (กลุ่ม Explorer มีสัดส่วน 54.0% และกลุ่ม Challenger มีสัดส่วน 20.5%) โดยคะแนนเฉลี่ยของผู้ทำแบบทดสอบทั้งหมดเท่ากับ 12.01 คะแนน จากคะแนนเต็ม 18 คะแนน ทั้งนี้ พบว่ากลุ่ม Gen Z กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มตัวอย่างที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดมีสัดส่วนที่สูงในระดับเริ่มรู้หรือกลุ่ม Newcomer ซึ่งคะแนนที่ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มในแบบสอบถาม กล่าวคือ ประมาณ 37.4% ของ Gen Z ที่เข้าทดสอบจัดเป็นกลุ่ม Newcomer ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาพบว่าเป็นกลุ่ม Newcomer ประมาณ 34.4% และมี 29.3% ของกลุ่มตัวอย่างที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดอยู่ในกลุ่ม Newcomer

 

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาในมิติเนื้อหาความรู้เป็นรายหมวดจากทั้งหมด 6 หมวดเนื้อหาที่กำหนดเป็นแบบทดสอบ อาจกล่าวได้ว่า หมวดการบริหารความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สิน และหมวดการบริหารการลงทุน มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าหมวดอื่นๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ทำแบบทดสอบยังมีประเด็นที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หรือยังเข้าใจไม่ถูกต้อง (Gaps) และเมื่อพิจารณารายละเอียดเป็นรายข้อพบว่า เรื่องที่มีผู้ตอบผิด 6 อันดับแรก ได้แก่ การประกันชีวิต จัดพอร์ตลงทุน การประเมินความเสียหาย เทคนิคการใช้บัตรเครดิต ดอกเบี้ยทบต้น และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นเนื้อหาในหมวดการบริหารความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สิน การบริหารการลงทุน การบริหารหนี้สิน และการบริหารเงินออม โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและ Gen Z เป็นกลุ่มที่ตอบผิดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเมื่อเปรียบเทียบกัน

 

ประเด็นที่พบข้างต้นเป็นผลของข้อมูลในช่วงแรกของโครงการ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมีความตั้งใจที่จะให้มีจำนวนผู้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เครื่องมือวัดระดับความรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าใจและพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่า ความรู้ใดในเรื่องการเงินที่คนไทยยังต้องการเพิ่มเติม การมีส่วนร่วมดังกล่าวจะช่วยให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ต่อได้อย่างตรงจุด นอกจากการเข้ามาทำแบบทดสอบได้เป็นรายบุคคลผ่านเว็บไซต์แล้ว ผู้ที่สนใจยังสามารถนำ ‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ ไปใช้ในระดับองค์กรได้ด้วย โดยองค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการวัดระดับความรู้ของกลุ่มตนเอง เพื่อให้ทราบผลทดสอบของกลุ่มเป็นการเฉพาะ สามารถติดต่อมาที่อีเมล [email protected]   

 

จากการตอบรับอย่างดีของคนทั่วไปในการเข้ามาทำแบบทดสอบ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘SET Fin Quizz – พิชิต Fin Gap’ นี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนเพื่อช่วยยกระดับความรู้ และทักษะการเงินขั้นพื้นฐานของคนไทย ให้สามารถพิชิต Fin Gap ของตนเองได้ในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X