×

นักวิเคราะห์ชี้ ‘หุ้นไทย’ ซึมลง จนกว่าการเมืองได้บทสรุป มอง SET เสี่ยงหลุด 1,200 จุด

โดย THE STANDARD TEAM
16.10.2020
  • LOADING...

จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) โดย 1 เดือนที่ผ่านมาดัชนี SET ปรับตัวลดลงจาก 1,295 จุด มาแตะจุดต่ำสุดที่ราว 1,231 จุด หรือลดลงราว 5% 

 

ล่าสุด ดัชนี SET ปิดที่ 1,233.68 จุด ลดลง 9.28 จุด หรือ 0.75% จากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.42 หมื่นล้านบาท

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์หน้า (19-23 ตุลาคม) น่าจะเป็นลักษณะของการแกว่งตัวออกข้างสลับย่อตัว (Sideway Down) โดยประเมินความเสี่ยงขาลงของดัชนีที่ 1,200 จุด และประเมินกรอบด้านบนที่ 1,260 จุด

“เชื่อว่าดัชนี SET จะเป็นลักษณะเดิมต่อไปจนกว่าจะมีบทสรุป ตราบใดที่สถานการณ์การเมืองยังค้างคา ดัชนีจะไซด์เวย์หรือไซด์เวย์ดาวน์ ด้วยปริมาณซื้อขายที่เบาบาง แต่หากมีบทสรุปของสถานการณ์ หลังจากนั้น 1-2 เดือน ดัชนีจะปรับตัวขึ้นได้ ส่วนทิศทางหลังจากนั้น จะเป็นไปตามการประเมินของนักลงทุนหลังจากนั้น เช่น มุมมองต่อรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงมุมมองของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตพอสมควร เพราะเป็นการชุมนุมโดยไม่มีการปักหลักที่จุดใดจุดหนึ่ง แม้แต่ต่างจังหวัดก็มีการรวมตัวด้วย และการชุมนุมมีแนวโน้มจะกระจายตัวออกไปต่อเนื่อง ทำให้การควบคุมหรือแม้แต่จะไปถึงขั้นสลายการชุมนุมค่อนข้างทำได้ยาก แม้ว่าจะมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้วก็ตาม

“สถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ SET ไม่ชอบ ตราบใดที่ไม่มีบทสรุป ดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวเหมือนช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้ขึ้นได้สุดท้ายก็จะปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็น่าจะยังขายต่อไป เพราะสื่อต่างชาติก็นำเสนอประเด็นรอบนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าครั้งก่อน”

หากมองต่อไปหลังจากนั้น มีโอกาสสูงที่ดัชนี SET จะหลุด 1,200 จุด โดยเฉพาะหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งมักจะทำให้เกิด Panic Sell ตามมา

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ ตราบใดที่ยังไม่เห็นดัชนี SET แตะ 1,200 จุด แนะนำว่าไม่ต้องเร่งเพิ่มน้ำหนักหุ้นใหญ่ แต่สำหรับหุ้นกลางและหุ้นเล็กมองว่ายังเข้าสะสมได้ หลังจากที่ดัชนีหลุด 1,250 จุด ลงมาก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีเลวร้ายสุดของดัชนี เราประเมินอิงจากกำไรต่อหุ้น (EPS) ของหุ้นไทยปี 2564 ที่ 80 บาทต่อหุ้น โดยอิงกับ P/E 14.6 เท่า จะได้แนวรับบริเวณ 1,150-1,170 จุด

 

++เปิดสถิติประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉิน’ หุ้นผันผวนแค่ช่วงสั้น

ด้าน บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า แม้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปีจะยังเดินหน้าต่อเนื่อง ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น แต่กลับถูกหักล้างจากสถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขึ้น หลังการชุมนุม 14 ตุลาที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้เดินทางมาถึงจุดที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ จึงทำการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลตลาดหุ้นในอดีต หลังจากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินใน 4 ครั้งที่ผ่านมา เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2535 (พฤษภาทมิฬ) ตามมาด้วยเดือนกันยายน 2549 (ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร) เดือนพฤษภาคม 2553 (ชุมนุมกลุ่ม นปช.) และเดือนมกราคม 2557 (ชุมนุมกลุ่ม กปปส.)

ผลลัพธ์คือหลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดัชนี SET จะผันผวนหนักก่อนในระยะสั้น แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียดคือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดัชนี SET มีโอกาสผันผวนหนัก และแกว่งตัวตั้งแต่ติดลบ 7.35% ถึงบวก 11.17%

ส่วนช่วง 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดัชนี SET ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยบวก 4.07% (1 เดือนให้หลัง), 5.69% (2 เดือนให้หลัง) และ 8.21% (3 เดือนให้หลัง)

 

++ แนะถือเงินสด 25% เน้นหุ้นปันผลสูง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำแบ่งสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) และเลือกลงทุน (Selective Stocks) ดังนี้

1. แนะนำถือเงินสด 25% ของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมี และมักจะกดดันให้ดัชนี SET ผันผวนเสมอ

2. ลงทุนในหุ้น 75% ของพอร์ตการลงทุน โดยแบ่งกลุ่มหุ้นที่จะลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เลือกลงทุนหุ้นกลางเล็กปันผลสูง และทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่อยู่ในกลุ่มที่มักฟื้นตัวได้ดีหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มอาหาร กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมี

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising