ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ EA และ BYD ชี้แจงข้อมูลงบการเงินไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และแนวโน้มของธุรกิจ โดยหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท
ทั้งนี้ ตลท. ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ บล.บียอนด์ (BYD) และติดตามคำชี้แจงของบริษัทดังกล่าว โดยขอให้ทั้งสองบริษัทชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
ขณะที่ราคาหุ้นของ EA และ BYD นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวขึ้นราว 59% และ 77% ตามลำดับ โดย EA กลับมาทำจุดสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 10.6 บาท ส่วน BYD พุ่งขึ้นแตะ 1.82 บาท
ในกรณีของ EA เนื่องจากบริษัทมีลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันซึ่งค้างชำระในจำนวนที่มีนัยสำคัญ โดยลูกหนี้ค้างชำระส่วนใหญ่เป็นการขายรถให้ บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ซึ่งได้ยกเลิกการเพิ่มทุน โดยอาจกระทบต่อการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ, ฐานะการเงิน, ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของ EA อย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 2 จะเห็นว่า รายได้จากธุรกิจยานยนต์คิดเป็น 38% และ 22% ของรายได้ขายในปี 2566 และ 6 เดือน ปี 2567 ขณะที่ลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกือบทั้งหมดค้างชำระเกิน 3 เดือน ส่วนใหญ่เป็นยอดค้างชำระจาก NEX
ทั้งนี้ ตลท. ขอให้ EA ชี้แจง 4 ประเด็น ได้แก่
- ความเพียงพอที่บริษัทบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2% ของยอดหนี้ค้างชำระ
- นโยบายและมาตรการติดตามลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ, ผลกระทบต่อฐานะการเงิน, สภาพคล่อง และการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ AAB และ EA
- รูปแบบในการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ EA ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่ขายผ่าน NEX ตามรูปข้างต้นหรือไม่ อย่างไร รูปแบบดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทอย่างไร
- นโยบายการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของ บ.เปย์ป๊อป ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% และมาตรการติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย
ส่วนกรณีของ BYD ซึ่งมีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยรับเงินให้กู้ยืมกับ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) คิดเป็น 65% ของรายได้ โดย TSB ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี ส่งผลให้งวด 6 เดือน ปี 2567 บริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงิน การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลงบการเงิน BYD พบว่า เงินให้กู้ยืมคิดเป็น 77% ของสินทรัพย์รวม โดยมีการวางหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้มูลค่าหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุด TSB ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี และจะกลับมาเริ่มชำระอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2570
ทั้งนี้ ตลท. ขอให้ BYD ชี้แจง 3 ประเด็น ได้แก่
- ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัท
- นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 2566 TSB มีผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ
- ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัทในการดูแลลูกหนี้ TSB