×

เปิดกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ 3 ปี ยกระดับผลิตภัณฑ์-แพลตฟอร์มเทียบชั้นตลาดโลก

08.01.2021
  • LOADING...
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2564-2566) ภายใต้แนวคิด ‘Redefine Thai Capital Market Resiliency ก้าวต่อไปตลาดทุนไทย สู่ความแข็งแกร่งของประเทศ’ 

 

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวสู่วิถีธุรกิจใหม่ (Next Normal) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน และเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของประเทศ ตอบสนองความท้าทายในโลกปัจจุบันที่อยู่บนวิถี VUCA (ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยจะดำเนินการภายใต้กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่  

 

1. การสร้างการเติบโตในตลาดทุน ทั้งส่วนของผลิตภัณฑ์และผู้ลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์จะส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจที่เป็น S Curve ให้เข้ามาระดมทุน รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่างประเทศ บริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และสตาร์ทอัพ (Startups)

 

สำหรับการสนับสนุน SMEs และ Startups นั้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และได้เปิดคอร์สออนไลน์สำหรับ SMEs และ Startups ผู้สนใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่กระดานซื้อขายที่ 3 SMEs และ Startups นั้น ล่าสุดได้นำส่งร่างกฎเกณฑ์ต่างๆ แก่สำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว หากได้รับความเห็นชอบและอนุมัติ ก็น่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 3/64

 

การขยายฐานผู้ลงทุนจะเน้นช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้กว้างขึ้น ควบคู่กับการตลาดดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลความรู้ บริการ และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ จะขยายความน่าสนใจของตลาดทุนไทยไปยังกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอธีมผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนสถาบัน

 

2. ขยายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Expansion) โดยตลาดหลักทรัพย์จะสร้างการมีส่วนร่วม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการในตลาดทุน การส่งเสริมรายงานด้าน ESG รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

 

รวมถึงการต่อยอดธุรกิจใหม่ (Venturing New Frontiers) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตลาดทุนโลก และให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของผู้ลงทุน

 

3. ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกฝังการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Cultivation) ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการ ESG มาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อคงความเป็นผู้นำในภูมิภาคในด้าน ESG พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน  

 

และการเสริมสร้างพลังทางสังคม เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านความรู้ทางการเงินของประเทศ โดยพัฒนาทักษะพื้นฐานการบริหารจัดการทางการเงินในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับงานวิจัยด้านตลาดทุน พัฒนาศักยภาพ และขยายโอกาสสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมผ่าน Social Digital Platform 

 

4. เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและศักยภาพของบุคลากร ตลาดหลักทรัพย์จะเพิ่มความสามารถในการขยายตัวด้านธุรกิจ (Business Scalability) ยกระดับระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยยึดหลักมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการสร้างสรรค์บริการอย่างครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้ลงทุน 

 

รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน โดยศึกษาการนำ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ ให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง และการสื่อสารในช่วงวิกฤต 

 

กรอบการพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของประเทศอย่างมีสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม (Balanced Growth) รองรับสภาพแวดล้อมของตลาดทุน เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน  

 

เร่งพิจารณาเกณฑ์ดูแลหุ้นฟรีโฟลตต่ำ 

 

ดร.ภากรกล่าวเพิ่มว่า แนวทางการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ ที่มีการซื้อขายและราคาเคลื่อนไหวผิดปกติในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ยังคงใช้ขั้นตอนตามมาตรฐานที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมอย่างไรได้อีกบ้าง

 

สำหรับแนวทางที่ใช้กำกับดูแลในปัจจุบัน คือการดูแลให้บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีการกระจายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งเป็นกรอบที่ใกล้เคียงกับตลาดต่างประเทศที่มีเกณฑ์ฟรีโฟลตเฉลี่ยที่ 10-15% ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนใดมีสัดส่วนนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ลงทุนได้รับทราบ และดำเนินการแก้ไขให้ฟรีโฟลตเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

ขณะที่ในแง่ของการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีมาตรการหลายอย่างกำกับดูแลอยู่ เช่น ให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เข้ามาในระบบ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุน หรือกรณีที่ราคาหลักทรัพย์มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ จะมีการติดตามให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเข้ามาในระบบ ถึงพัฒนาการที่สำคัญให้ผู้ลงทุนได้รับทราบเพิ่มเติมด้วย  

 

รวมถึงมาตรการในการกำกับการซื้อขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคชบาลานซ์ ซึ่งหลักทรัพย์ต่างๆ ยังสามารถทำการซื้อขายได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีมาตรการกำกับดูแลประพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การทำเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การปั่นหุ้น หรือการใช้ข้อมูลภายในร่วมกับทาง ก.ล.ต. ด้วยเช่นกัน

 

“ตัวเลขฟรีโฟลตของไทยกับต่างประเทศที่รายงานไม่ได้แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ในอนาคตเราจะต้องคำนึงถึงคือ ฟรีโฟลตตัวนั้นสะท้อนธุรกรรม (Reflect Transaction) ของเราอย่างไรบ้าง โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรที่จะแสดงให้เห็นชัดได้ว่า เป็นฟรีโฟลตที่มีสภาพคล่องจริง กับฟรีโฟลตที่เป็นนิยาม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์กำลังศึกษาว่าจะทำอย่างไร จึงจะมีข้อมูลที่ชัดเจนออกมาให้นักลงทุนมากขึ้น ปัจจุบันกำลังหาทางเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความหมายมากขึ้น”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising