×

เขตเมืองขยายตัว ตัวกระตุ้นธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
07.11.2019
  • LOADING...
SET

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรในเขตเมืองเฉลี่ย 4% ต่อปี ตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกเหนือจากการส่งออกสินค้าที่ผันแปรไปตามปัจจัยความไม่แน่นอนในต่างประเทศ
  • การขยายความเป็นเมืองยังเพิ่มโอกาสขยับขยายธุรกิจในภาคค้าปลีกและบริการ ซึ่งสร้างตำแหน่งงานใหม่และรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับคนเมือง และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยพลังขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศ

ในโลกที่มีความผันผวนสูงจากปัจจัยความไม่แน่นอนในต่างประเทศ เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้องไม่พึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศในฐานะพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาหรือขยายความเป็นเมือง เพื่อวางรากฐานตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

สำหรับประเทศไทย จำนวนประชากรในเขตเมืองเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจบริการ เพราะคนเมืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรที่มีรายได้สม่ำเสมอ ส่งผลให้มีกำลังซื้อที่แน่นอน ซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจบริการในขณะเดียวกัน 

 

จากการศึกษาธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย พบว่า ในช่วงปี 2557-2561 ทั้งสองกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตเชิงปริมาณ โดยขยายจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายสาขาในต่างจังหวัด 

 

ธุรกิจค้าปลีกมีสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.3% ต่อปี ขณะที่สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี ซึ่งบ่งชี้ว่า ให้ความสำคัญกับตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ทั้งสองกลุ่มธุรกิจล้วนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับดีมานด์ของลูกค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% และ 13.6% ต่อปีตามลำดับ  

 

นอกจากการเติบโตในเชิงปริมาณแล้ว ความสามารถในการทำกำไรของทั้งสองธุรกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพิ่มขึ้นตลอดในช่วงปี 2557-2561 โดยที่การขยายสาขาและการจ้างงานที่เพิ่มนั้นไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่อสาขาหรือต่อพนักงานลดลงเลย แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนกำไรสุทธิต่อพนักงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.1% และ 12.3% ต่อปี ตามลำดับ 

 

แนวโน้มข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การขยายตลาดในแนวราบมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต แต่การลงทุนเพื่อขยับขยายธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบนิเวศมารองรับเพื่อดึงดูดการลงทุนเสียก่อน ดังนั้น ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและบริการที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตในเมือง จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การขยายตัวเมืองเป็นไปอย่างมีคุณภาพในทุกมิติ และช่วยส่งเสริมธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้น รายได้นอกภาคเกษตรเติบโตสม่ำเสมอ

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสังคมเมืองในปัจจุบัน ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และชุมชนเมืองในต่างจังหวัด ทำให้เกิดการจัดการด้านสาธารณูปโภคตลอดจนบริการด้านต่างๆ ที่พร้อมสำหรับการอยู่อาศัยมากกว่าในชนบท ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัตราการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในเมืองมีมากขึ้น ทั้งเพื่ออยู่อาศัย ประกอบอาชีพ หรือเพื่อการศึกษา 

 

ข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2557-2562 จำนวนประชากรไทยเติบโตเฉลี่ย 0.5% ต่อปี ในขณะที่จำนวนประชากรในเขตเมือง ซึ่งหมายถึงกรุงเทพฯ และเขตเทศบาลในต่างจังหวัดเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าที่ระดับ 4% ต่อปี 

 

เมื่อเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการแข่งขันสูง ชีวิตเร่งรีบขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่เคยพึ่งพาตนเองแบบชุมชนการเกษตรดั้งเดิม กลายเป็นการเกื้อหนุนแบบเชื่อมโยงกันของภาคการผลิตและการบริการต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

นอกจากนี้การเติบโตของรายได้ประชากรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย เพราะการประกอบอาชีพของประชากรในเขตเมืองเป็นทำอาชีพผลิตสินค้า และบริการเฉพาะด้าน ซึ่งมีโอกาสที่รายได้จะเติบโตสม่ำเสมอมากกว่าอาชีพด้านเกษตรกรรมที่รายได้แปรผันตามราคาสินค้าเกษตร 

 

ในช่วงปี 2557-2561 ค่าจ้างแรงงานของประชากรที่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรมีมูลค่ามากกว่าและเติบโตกว่าค่าจ้างในภาคเกษตร ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 1.4% ต่อปี ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรหดตัวเฉลี่ย 0.1% ต่อปี  

 

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการเติบโตของรายได้ สองปัจจัยนี้ส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจากการศึกษาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 กลุ่มธุรกิจ อันได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า ธุรกิจเติบโตตามการขยายตัวของเขตเมืองอย่างชัดเจน

 

กรณีศึกษา: ธุรกิจค้าปลีกเติบโต ดีต่อตลาดแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร

จากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มค้าปลีก 8 บริษัท ที่แสดงข้อมูลจำนวนสาขาในช่วงปี 2557-2561 พบว่า จำนวนสาขาโดยรวมเติบโตเฉลี่ย 7.8% ต่อปี โดยสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี บ่งชี้ถึงโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดที่มีศักยภาพสูง

 

เขตเมืองขยายตัว

 

 

การเพิ่มสาขาส่งผลดีโดยตรงต่อการจ้างงานในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย โดยจากข้อมูลการจ้างงานของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกจำนวน 9 บริษัท พบว่า ในช่วงปี 2557-2561 ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคน ณ สิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% ต่อปี

 

เขตเมืองขยายตัว

 

 

การขยายตัวของเขตเมืองยังเป็นตัวเร่งการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกอย่างชัดเจน เห็นได้จากรายได้และกำไรสุทธิของทั้ง 8 บริษัท ในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 8.8% และ 18.2% ต่อปี ตามลำดับ โดยไม่ใช่แค่เพียงการขยายตัวในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังเติบโตในเชิงคุณภาพจากความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 จาก 3.6% เป็น 5% 

 

เขตเมืองขยายตัว

 

 

กรณีศึกษา: ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเติบโตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

เมื่อคนในเขตเมืองต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลาย และมีมูลค่าการบริโภคมากขึ้น ความต้องการด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของธุรกิจรายย่อยที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่มีหลักประกันเพียงพอที่จะเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จึงมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงกลายเป็นโอกาสของธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งรวมถึงสินเชื่อสำหรับบุคคลธรรมดาเพื่อซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพในระดับนาโนไฟแนนซ์

 

หนึ่งในตัวชี้วัดการเติบโตดูได้จากตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว โดยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 บริษัท (ไม่รวมธนาคารพาณิชย์) พบว่า มีการขยายธุรกิจในด้านการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2561 มีพนักงานรวม 2.6 หมื่นคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.6% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2557-2561

 

เขตเมืองขยายตัว

 

 

แต่การเพิ่มสาขาโดยรวมอาจไม่ใช่ดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมนักสำหรับธุรกิจนี้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านบริการสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 10 บริษัท พบว่า มี 2 บริษัทที่มีการขยายสาขาอย่างชัดเจน ได้แก่ MTC และ SAWAD ซึ่งเพิ่มสาขาไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนสาขาเฉลี่ย 34.8% ต่อปี และจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 ทั้งสองบริษัทมีสาขารวม 6,149 สาขา โดยที่สาขาในต่างจังหวัดมีสัดส่วน 92% ของจำนวนสาขาทั้งหมด 

 

เขตเมืองขยายตัว

 

 

ในแง่รายได้ของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคก็เติบโตจากอานิสงส์ของการขยายตัวของเมืองเช่นกัน โดยรายได้และกำไรสุทธิของทั้ง 10 บริษัท ในช่วงปี 2557-2561 เติบโตเฉลี่ย 12% และ 27.5% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากการเติบโตในเชิงปริมาณแล้ว ธุรกิจนี้ยังเติบโตในเชิงคุณภาพ โดยที่ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำกำไรต่อพนักงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งแสดงโดยอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2561 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 25.7% ในปี 2561 จาก 15.3% ในปี 2557 (ภาพที่ 9) นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่อพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนบาทต่อคน ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.3% ต่อปี 

 

เขตเมืองขยายตัว

เขตเมืองขยายตัว

 

 

จากกรณีศึกษาและข้อมูลต่างๆ ข้างต้น เป็นตัวบ่งชี้ว่า การเติบโตของเขตเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม 

 

แต่การเติบโตของเมืองต้องมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพด้วย โดยเฉพาะระบบคมนาคม ระบบการสื่อสาร หรือการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งเหล่านี้ต้องการการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสำหรับต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของงบประมาณรวมทั้งประเทศสำหรับปี 2561 จากระดับ 12% ในปี 2550 

 

นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็สามารถร่วมลงทุนในด้านบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนด้านสุขภาพ การศึกษา การประกอบอาชีพ และบริการด้านอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เมืองเติบโตขึ้นในทุกมิติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยภายนอก 

 

อย่างไรก็ตาม งานศึกษานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเขตเมืองแต่เพียงด้านเดียว เพราะการพัฒนาเขตชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ยังคงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยแนวทางหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ชนบทรอบเขตเมืองได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมือง ตลอดจนได้ใช้ประโยชน์จากธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น คือการเชื่อมโยงความเป็นเมืองและความเป็นชนบทด้วยการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร เพื่อให้การเชื่อมต่อเป็นไปได้โดยสะดวก ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของคนให้สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน

 

ภาพ: ShutterStock

อ้างอิง: 

  • SET Note ฉบับที่ 7 /2562 “เมื่อเมืองขยายตัว ธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคเติบโต”
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X