×

สว. 67 : ทำงานคุ้มภาษี-เสียดายก้าวไกล 5 ปีชีวิตที่ไม่คาดฝัน ‘สว. เสรี’ กับฉากชีวิตหลังพ้นวาระ

05.06.2024
  • LOADING...
เสรี สุวรรณภานนท์

HIGHLIGHTS

  • เส้นทางไม่คาดฝันของ ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ จาก สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง สู่ สว. จากการแต่งตั้งของ คสช.
  • ยืนยันแม้จะมาจากการแต่งตั้ง แต่เป็นมีความรู้และความสามารถ ทำงานคุ้มภาษีประชาชน
  • เสียดายโอกาสพรรคก้าวไกล หากตัดนโยบายมาตรา 112 ได้ จะมีโอกาสทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองให้เจริญขึ้นได้
  • 2 ปีจากนี้ขอมุ่งทำธุรกิจครอบครัวที่ยังมีประชาชนอยู่ในสมการ ยังไม่ปิดโอกาสตัวเองบนเส้นทางการเมือง หากยังทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้

THE STANDARD ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ชุดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังเข้าสู่ช่วงพ้นวาระ

 

การสนทนาครั้งที่ 2 นี้ เป็นคิวของ ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ อดีตทนายความ นักกฎหมาย และอดีต สว. ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ซึ่งเป็น สว. อีกบุคคลที่ถูกยกให้อยู่ในกลุ่ม สว. ตัวตึง และปรากฏอยู่บนหน้าพื้นที่ข่าวมาตลอด

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ยืนยิ้มอยู่ด้านหน้าตลาดเสรี 2

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

‘เสรี’ เปิดตลาดเสรี 2 ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 109 หลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เขตบางคอแหลม ตลาดแห่งที่สองซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัว ต้อนรับ THE STANDARD พร้อมเปิดใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง ‘สว.’ ผู้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ‘ตามบทเฉพาะกาล’ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้กำหนดอนาคตประเทศ จากนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

 

‘สว.’ จากการเลือกตั้ง สู่ สว. จากการ ‘แต่งตั้ง’

 

เสรีเริ่มต้นเล่าชีวิตก่อนเข้าสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภาว่า ตัวเองเคยเป็นนักกฎหมาย เคยเป็นเลขาธิการสภาทนายความ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย ทั้งปี 2540 และปี 2550 เคยเป็น สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อปี 2543 เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

 

หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขาในฐานะนักกฎหมายได้รับการติดต่อให้เข้าไปเป็น 1 ใน 250 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ หลังจากนั้น 1 ปี เปลี่ยนเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและปฏิรูปทั้ง 11 ด้านสืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกยุบไป

 

“ตอนนั้นเราก็เห็นว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งของสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่เคยมี และชื่อก็เพราะมาก การปฏิรูปแห่งชาติเชียว แล้วก็มีการปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศด้วย”

 

ท้ายที่สุดยังถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 250 สว. พร้อมทั้งยืนยันว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ แต่การดำรงตำแหน่ง สว.ในชุดนี้ เขาไม่ได้ถูกเลือกเพราะเป็น ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ กับอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศอย่างแน่นอน

 

ผมก็เป็นคนที่มีโปรไฟล์และมีผลงาน การที่จะเลือกใช้บริการผมเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าผมทำอะไรตั้งเยอะ ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก แล้วจู่ๆ ดึงตัวมาสักหน่อย

 

เสรี สุวรรณภานนท์ สีหน้าเคร่งเครียด

ระหว่างเข้าร่วมการประชุมร่วมรัฐสภา เสนอยกเลิก ม.272 ปิดสวิตช์ สว.

 ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ขณะเดียวกัน การเข้ามาเป็น สว. ในชุดปัจจุบันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ ‘ไม่คาดฝัน’ ดังที่เล่าไปตั้งแต่ตอนต้น เนื่องจากเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 100% แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2543 โดยมีวาระ 6 ปี แม้เราจะเคยทำมาแล้ว และเราก็รู้สึกว่าคุ้นเคย แต่ก็แตกต่างกันอยู่ดีเพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมือนกัน

 

ตอนเป็น สว. ครั้งแรกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ความขัดแย้งต่างๆ ยังไม่ได้รุนแรง ยังเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่การเป็น สว. ครั้งที่ 2 จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สว. อยู่ในบรรยากาศที่ต้องต่อสู้ แข่งขัน ทะเลาะ มีการใช้วาทกรรม เสียดสี ให้ร้ายกันตลอดเวลา

 

“นับเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่รื่นรมย์ และเป็นบรรยากาศที่ไม่ควรจะเป็น เมื่อประชาชนเลือกเข้ามาให้ทำหน้าที่แล้ว เราควรต้องพูดกันด้วยเหตุและผล แต่คนการเมืองในยุคนี้ขับเคลื่อนการทำงานด้วยอารมณ์โดยไม่ใช้เหตุผล”

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ในชุดลำลอง สวมใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฟ้า พาทีมข่าว THE STANDARD สำรวจตลาดเสรี 2 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสัมภาษณ์พิเศษ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ตัวตนที่แท้จริงของเสรี สุวรรณภานนท์

 

สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้ง 250 คน ล้วนมีที่มาที่แตกต่างกันและหลากหลายอาชีพ จนยากที่จะทราบได้ว่าตัวตนของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร THE STANDARD จึงถามว่า “ตัวตนจริงๆ ของผู้ชายที่ชื่อ เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นอย่างไร”

 

เสรีอธิบายตัวตนของตนเองว่า เป็นคนตรงไปตรงมา เราเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความ ถูกหล่อหลอมมาด้วยเหตุและผล กล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม เรามีประสบการณ์เยอะ เห็นทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีมามาก เราเองก็เคยทำผิดพลาดมา จึงเป็นบทเรียนว่าแต่ละเรื่องควรตัดสินใจอย่างไร แบบไหน ไม่ได้เออออในทุกเรื่อง

 

ผมกล้าที่จะบอกกับสังคมว่าอะไรดี อะไรไม่ดี หรืออะไรควร อะไรที่ไม่ควร และต่อต้านอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน แอบคิด แอบทำ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

 

เสรีอธิบายต่อว่า เมื่อเรารู้ว่าตัวเรามีภารกิจอะไร เราต้องกล้าที่จะบอกกับสังคม ต้องพยายามที่จะรักษาหลักการที่สำคัญของบ้านเมือง คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย มีหลายครั้งที่อาจต้องทำตามกระแส และมีหลายครั้งที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง และไม่ควรเดินเข้าไป เราไม่ได้เออออกับสังคมในทุกเรื่อง

 

“ภาพที่เห็นในสภากับตัวจริงเหมือนกันไหม” THE STANDARD ถาม เสรีตอบว่า “เหมือนนะ ธรรมชาติเราเป็นแบบนั้น”

 

เสรี สุวรรณภานนท์ กำลังจ้องมอง วันชัย สอนศิริ

ระหว่างเข้าร่วมการประชุมร่วมรัฐสภา เสนอยกเลิก ม.272 ปิดสวิตช์ สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

5 ปี สว. อยู่ในภาวะบอบบาง

 

เสรียอมรับว่าการทำงานของ สว. ชุดปัจจุบันนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สว. อยู่ในสภาวะบอบบาง เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งยังถูกการเมืองใช้เป็นวาทกรรม ทั้งการเสียดสี แดกดันว่า สว. ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่มาจากเผด็จการ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับบุคคลที่แต่งตั้งเข้ามาคือ คสช. และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันของ 2 สภา จนขาดความร่วมมือกันมาโดยตลอด

 

“สส. ก็เอาแต่พูดจาเสียดสี แดกดัน ฝ่าย สว. ก็เกิดความรู้สึกไม่ชอบใจ เมื่อ สว. ไม่ชอบใจ เมื่อมีการเสนอกฎหมาย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถพูดคุยเจรจากันได้ สุดท้ายก็ตัดสินใจผ่านการลงมติ สว. ก็เลือกลงมติไม่เห็นด้วย ดังนั้นไม่ว่า สส. จะเสนอกฎหมายเข้ามากี่เรื่อง สว. ก็ไม่เห็นด้วยตลอด เราจึงเห็นว่าจะทำให้ไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้ แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”

 

5 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จเพียงเรื่องเดียวคือ การแก้ไขบัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบให้เป็น 2 ใบ มากไปกว่านั้นการเมืองในช่วงปี 2563 ต่างฝ่ายต่างเล่นการเมืองใส่กันโดยไม่รับผิดชอบ ด้วยการยุยงส่งเสริมให้เด็กแสดงพฤติกรรมเรียกร้องเสรีภาพ จนกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาจนทำให้เด็กจำนวนมากต้องเข้าคุกเข้าตะราง

 

แต่กลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย และภาพเหล่านี้จะชัดขึ้นเรื่อยๆ หากยังเล่นการเมืองแบบนี้ต่อไป ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้และมีความขัดแย้งตลอดเวลา นี่คือบรรยากาศตลอด 5 ปีที่ผ่านมาที่ได้พบเจอ

 

“เราก็พยายามทำงานให้คุ้มภาษี”

 

หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 และเข้าสู่ สส. ชุดที่ 26 โดยที่ สว. ชุดปัจจุบันยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี สว.จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ สว. โหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทมติจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 แต่ สว. กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น จนนำมาซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์ ‘#สว.มีไว้ทำไม’ และ ‘#ไม่เอาสว.เลือกนายก’

 

เสรีกล่าวว่า เรื่องนี้จะโทษ สว. ไม่ได้ เพราะตามกติกาในรัฐธรรมนูญระบุไว้เช่นนี้ เราผ่านการทำประชามติจากประชาชน และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุด สภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับการเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่

 

แต่บางครั้งการพูดจาให้ร้าย สว. ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ เพราะ สว. ไม่ได้มาจากประชาชน เรื่องนี้พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ สว. ที่เข้ามาไม่ได้เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ แต่เข้ามาทำตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ สุดท้ายแล้วเมื่อยิ่งพูดก็ยิ่งสร้างความแตกแยกทางด้านความคิด

 

“จริงๆ มันอยู่ที่ระบบ คนที่เขียนรัฐธรรมนูญก็ต้องการที่จะบริหารอำนาจ คนมีอำนาจเขาก็ต้องการเลือกคนเข้ามาช่วยงานเขา แล้วเขาจะเลือกคนที่ขัดแย้งมาทำไม ดังนั้นทำไมถึงต้องแต่งตั้ง ก็เป็นที่รู้กันว่า สว. ถูกเลือกมาเพื่อช่วยงานรัฐบาล มาช่วยกันกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส. สว. เข้ามาเป็นซีกหนึ่งของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น”

 

 

เสรี สุวรรณภานนท์, สมชาย แสวงการ และเพื่อน สว.

ยกมือระหว่างเข้าร่วมการประชุมร่วมรัฐสภา เสนอยกเลิก ม.272 ปิดสวิตช์ สว.

ช่างภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“รู้สึกอย่างไรกับคำนี้ (สว. มีไว้ทำไม) ขณะเดียวกันสังคมก็ตั้งคำถามว่า ทำงานคุ้มภาษีหรือไม่” THE STANDARD ถาม

 

เสรีตอบว่า คำนี้เหมือนการดูถูกดูแคลน เราเข้าใจถึงพฤติกรรมการแสดงออก แต่ด้วยระบบถึงอย่างไรก็ต้องมี ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่มีต่อบ้านเมือง และประชาชนจะได้จากเรา หากเราสร้างประโยชน์ได้ คำว่า สว. มีไว้ทำไม ก็จะได้คำตอบว่าเป็นไปในทางที่ดี ว่าเราไม่ได้ทำเรื่องเสียหาย

 

และมากไปกว่านั้น เดี๋ยวนี้มี IO มี AI เยอะแยะมากมายที่สามารถสร้างวาทกรรม สร้างภาพลักษณ์ ผลิตแนวคิดทั้งทางดีและทางไม่ดีบนโซเชียลมีเดีย เมื่อเราเข้าใจเราก็จะไม่ใส่ใจ เพราะเรารู้ว่ามันถูกสร้างขึ้นมา

 

ส่วนคำถามที่ว่า สว. ทำงานคุ้มภาษีหรือไม่นั้น เสรีตอบว่า “เราก็พยายามทำให้มันคุ้มนะ”

 

ด้วยเงินเดือน 113,560 บาทของ สว. ส่วนตัวก็คิดว่าเราทำเต็มที่ และทุกคนก็ทำเต็มที่ แต่จะเอาอะไรมาวัดว่าทำงานคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ทุกคนก็ทำไปตามหน้าที่ แต่ถามว่าทำไปแล้วพึงพอใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

 

3 สว. ตัวตึง: เสรี สุวรรณภานนท์ กำลังสนทนากับ สมชาย แสวงการ และกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ภายหลังยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เสรียกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า อย่างการเรียกร้องให้เราลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี 

นี่คือการทำหน้าที่ โดยรัฐธรรมนูญให้สิทธิ ให้เราตัดสินใจ เมื่อเราตัดสินใจไปแล้วเสียงส่วนใหญ่ชอบหรือไม่ชอบ ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ ก็จะเกิดการตั้งคำถามว่า สว. ทำงานไม่คุ้มเงินเดือน

 

ใช่ว่าเราจะเป็นคนที่ไม่มีงานทำหรือไม่มีรายได้ การที่จะบอกว่าคุ้มค่าไหม จริงๆ ส่วนตัวไม่รับเงินเดือนก็อยู่ได้ เมื่อพูดออกไปก็จะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เราไม่เอา แล้วคนอื่นเขาจะทำอย่างไร การขอไม่รับเงินเดือนก็เป็นการทำลายคนอื่นเหมือนกัน แต่ถามว่าเราอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้ อาชีพเรามีเยอะแยะ

 

“มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า สว. เป็นทายาทของ คสช.” THE STANDARD ถาม

 

เสรีขำเล็กน้อย ก่อนจะตอบว่า สิ่งเหล่านี้เป็นวาทกรรม เรายอมรับความจริงและไม่ขอปฏิเสธว่า คสช. เป็นผู้แต่งตั้งเรามา สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่คนตั้ง แต่สาระสำคัญคือ เราได้เข้ามาทำหน้าที่ มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง กล้าที่จะแสดงออกถึงจุดยืนที่เป็นหลักการสำคัญของบ้านเมืองหรือไม่

 

‘ปกป้องสถาบัน’ คือผลงานภูมิใจ

 

“การได้แสดงออกในการปกป้องสถาบัน” คือผลงานที่เสรีรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดตลอดการปฏิบัติหน้าที่ สว. ในช่วงที่ผ่านมา

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รู้สึกภูมิใจที่กล้ายืนหยัดและแสดงออกไม่เห็นด้วยกับใครก็ตามที่มีแนวทางล่วงละเมิด จาบจ้วง หรือทำลายเสาหลัก องค์ประมุขของประเทศ และพูดอย่างชัดเจนเป็นคนแรกมาตลอดว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับคนที่อาฆาตมาดร้ายต่อการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

“เราก็ภูมิใจที่เราได้มาทำหน้าที่นี้ ได้นำความรู้ทางกฎหมายมาช่วยเหลือบ้านเมือง เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถเหมือนกันแต่ไม่รับโอกาส แต่เชื่อว่าจังหวะและโอกาสของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน”

 

สว. รายนี้ยังอธิบายถึงส่วนการทำงานที่ภูมิใจ ถึงการทำหน้าที่เฟ้นหาบุคคลที่มีความสามารถในการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ส่วนเรื่องการกรองกฎหมายตนเองก็พยายามอ่านกฎหมายทุกฉบับที่ถูกเสนอเข้ามา รวมถึงการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการต่างๆ เพื่อพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้น

 

เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2023

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

มาตรา 112 แก้ได้ แต่ต้องไม่ล้มล้างการปกครอง

 

ที่ประชุมสองสภา ทั้ง สส. ชุดที่ 26 และ สว. ชุดปัจจุบัน ผ่านการเลือกนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ในครั้งแรกที่ประชุมได้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล แต่ได้เสียงสนับสนุนจากที่ประชุมไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่ถึงฝั่งฝันในการเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ที่ประชุมเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย และได้เสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้เสียงสนับสนุนจาก สว. ถึง 152 เสียง จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

 

THE STANDARD จึงถามว่า “แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้งของ สว. คืออะไร ทำไม ‘พิธา’ จากพรรคก้าวไกลถึงไม่ถูกเลือก ทำไม ‘เศรษฐา’ จากพรรคเพื่อไทยถึงถูกเลือก หากเราพูดถึงนโยบายมาตรา 112 ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ก็ล้วนเห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112”

 

เสรีกล่าวว่า สำหรับเขาแล้ว มาตรา 112 สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องแก้ไขโดยไม่เกิดความขัดแย้ง และไม่ใช่การแก้ไขแบบลบหลู่ดูหมิ่น เหมือนการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล

 

“ก้าวไกลเสนอแก้ไขแบบไม่เคารพ ดูหมิ่น ใส่ร้าย ใช้ถ้อยคำเหยียดหยาม มีพูดถึงรายได้ การใช้เงิน ความเท่าเทียม เราทุกคนล้วนทราบดีว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้ดีขึ้น หรือเป็นการแก้ไขเพื่อล้มล้างการปกครอง”

 

 

เสรี สุวรรณภานนท์ และเพื่อน สว.

เดินออกมารับดอกไม้จากประชาชนที่รวมตัวกันมาเป็นกำลังใจ

ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เสียดายโอกาสก้าวไกล

 

เสรีอธิบายต่อว่า การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายลักษณะนี้ เป็นเหตุให้ สว. ไม่เลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค นอกจากนี้การแสดงออกทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาก็เห็นว่า พรรคก้าวไกลยุยงเด็ก เมื่อเด็กกระทำผิดก็ไปประกันตัว เราไม่ได้ห้ามการประกันตัว แต่เราเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพรรคก้าวไกล

 

พรรคก้าวไกลไม่ได้แก้ไขมาตรา 112 ให้ดีขึ้น แต่แก้ไขเพื่อความขัดแย้ง เพื่อแย่งอำนาจ

 

ดังนั้นถ้าให้อธิบายอย่างเข้าใจและชัดเจน สำหรับเขาแล้ว มาตรา 112 ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าไม่ได้ห้ามแก้ไข แต่การแก้ไขแบบพรรคก้าวไกลนั้น เป็นการแก้ไขแบบล้มล้าง

 

บรรยากาศสมาชิกพรรคก้าวไกล หลังมีคำสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรณีหุ้น ITV ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เสรียังมองอีกว่า ก้าวไกลจะเป็นพรรคการเมืองที่ดี ไม่มีความขัดแย้ง และไม่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง หากสามารถตัดนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ออกไปได้ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย คนที่เข้าไปในพรรคก้าวไกล เมื่อเข้าไปแล้วก็ต้องแสดงออกเพื่อความอยู่รอด จนทำให้เสียดายโอกาสของคนรุ่นใหม่ ที่จะมีโอกาสทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองให้เจริญขึ้นได้

 

“เบื้องหลังในช่วงก่อนการโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรกเป็นอย่างไร พรรคก้าวไกลมีการเจรจาขอเสียงจาก สว. หรือไม่” THE STANDARD ถามต่อ

 

เสรีกล่าวว่า สำหรับตนเองพรรคก้าวไกลไม่ได้มาเจรจาขอเสียง มีเพียงการพูดผ่านสื่อ ได้เสียงจาก สว. ครบแล้ว ทางเราก็พูดชัดเจนอย่างมาตลอด หากพรรคก้าวไกลต้องตัดนโยบายมาตรา 112 ออก สว. พร้อมที่จะเลือก แต่พรรคก้าวไกลเลือกที่จะเก็บนโยบายมาตรา 112 ไว้ และยืนหยัดในหลักคิดในนโยบายของพรรค จนทำให้เกิดปัญหา

 

“สว. ตั้งรับกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ (โดนทัวร์ลงเยอะ) อย่างไร” THE STANDARD ถามต่อ

 

เสรีตอบด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า “ผมตอบโต้ทุกเรื่องนะ เพราะผมถือว่าคุณไม่มีเหตุผล มาด่าว่ากล่าวหาผม หากมาเล่นงานผมทางไหน ผมก็เล่นงานกลับไปทางนั้น”

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ในชุดลำลอง สวมรองเท้าแตะ เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่มาบุกรุกตลาดเสรี 2 และติดป้ายหมิ่นประมาท ที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร

 

 

เสรีกล่าวต่อว่า บางกรณีก็บุกมาที่ตลาด ตนเองก็ไปแจ้งความเพราะถือว่าทำเกินกว่าเหตุที่ไม่แยกแยะ แม้จะไม่ชอบผมแต่ตลาดเป็นเรื่องของบริษัท เป็นเรื่องของคนในครอบครัว และตลาดก็มีความเชื่อมโยงกับประชาชนจำนวนมาก เชื่อมโยงกับพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่จับจ่ายใช้สอย

 

“การมาติดป้ายห้ามร้านนั้นร้านนี้ขายของในตลาดผม พูดจาไม่ดี เป็นการกระทำเกินเหตุและทำร้ายผู้อื่น ผมก็พูด แม่ค้าในตลาดผมเลือกพรรคคุณทั้งนั้น คุณถึงได้ชนะ แม้คุณจะไม่ชอบผม การที่ไปทำร้ายคนอื่น หากผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี”

 

จาก สว. ชุดเก่า ถึง สว. ชุดใหม่

 

เสรีบอกถึงสิ่งที่ตนเองกังวลหลังจากพ้นวาระไปแล้วว่า กังวลเรื่อง ‘แนวคิด’ มากที่สุด หากคนส่วนใหญ่มีแนวทางที่กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ จะนำมาซึ่งความขัดแย้งต่อบ้านเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

 

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าไปแตะและอย่าไปยุ่ง เอาความรู้ความสามารถไปบริหารงานราชการแผ่นดินจะเป็นประโยชน์กว่า แล้วพรรคของท่านก็จะเจริญเติบโต คนรุ่นใหม่ก็จะไม่มีความขัดแย้ง”

 

ส่วน สว. ที่จะเข้ามา เรายังไม่ทราบว่ามีแนวคิดอย่างไร หากมีแนวคิดที่จะสร้างประโยชน์และสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ โดยไม่มีความขัดแย้งอยู่ในที่อันสมควร ก็จะทำให้ประเทศชาติเราดีขึ้น

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ในชุดลำลอง สวมใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฟ้า พาทีมข่าว THE STANDARD สำรวจตลาดเสรี 2 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสัมภาษณ์พิเศษ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เสรียังให้คำแนะนำต่อ สว. ชุดใหม่ ถึงการทำงานในอนาคตว่า ขอให้พิจารณาจากปัญหาที่ สว. ชุดปัจจุบันที่ทำงานแล้วมีอุปสรรค พบข้อขัดข้อง ให้นำไปแก้ไขและอย่าไปเดินตาม ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 เรื่อง

 

เรื่องแรกคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ สส. พิจารณาเสร็จแล้วส่งมาให้ สว. พิจารณาในรายละเอียดต่อในกรอบเวลาทั้งสิ้น 20 วัน จากนั้นให้ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือจะเสนอให้มีการแก้ไข แต่ไม่ควรตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อติดตามสอบถามความคุ้มค่าของร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่แรกอีก เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานที่ซับซ้อนกับ สส.

 

“ผมพูดเรื่องนี้มา 5 ปี เพื่อนก็ยังไม่เข้าใจ หรือว่าเราอธิบายไม่ดีก็ไม่แน่ใจ ไปตั้งกรรมาธิการ เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับ สส. ข้าราชการก็เสียเวลาในการทำงาน จึงขอความร่วมมือว่าอย่าทำงานกันแบบนี้ เพราะการทำงานแบบนี้ชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์เดียวคือ การอยากรู้จักกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นปลัดหรืออธิบดี ขอฝาก สว. ชุดใหม่คิดให้ดี แม้ว่ามีอำนาจหน้าที่ แต่ควรที่จะทำแค่ไหน”

 

เรื่องที่ 2 คือ ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณเพื่อเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ เราเห็นปัญหามาโดยตลอด เมื่อไรที่มีการใช้งบว่าเป็นการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเสียหายตลอด

 

“จะดูงานก็ขอให้ดูงานจริงๆ ดูงานเสร็จแล้วกลับ ไม่ใช่ดูงานหนึ่งวัน แล้วอีก 6 วันไปดูพื้นที่ต่างๆ คนเขาจะมองว่าไปเที่ยว หากยังแยกไม่ได้ก็จะสร้างความเสียหาย ดังนั้น สว. ชุดใหม่คิดดีๆ หากจะไปต่างประเทศก็ขอให้เอางานเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าอยากจะไปเที่ยวก็ขอให้ไปโดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของแผ่นดิน อย่านำมาปนกัน ก็จะได้ไม่โดนครหา ขอให้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน”

 

มุ่งทำธุรกิจครอบครัว ที่ยังมีประชาชนอยู่ในสมการ

 

เสรีเล่าถึงแผนในอนาคตของเขาว่า งานที่ทำก็เป็นงานที่อยู่กับประชาชนมาโดยตลอด เรามีสำนักงานทนายความ หากประชาชนเดือดร้อนถูกดำเนินคดี เราก็มีทีมงานที่จะช่วยเหลือทางกฎหมายได้ แต่อีกทางก็มีธุรกิจที่ทำตลาด ปัจจุบันมี 2 แห่ง แห่งแรกอยู่ที่พุทธมณฑลสาย 5 และอีกที่คือ ตลาดเสรี 2 ที่เรานั่งตรงนี้

 

“ผมเป็นลูกแม่ค้า แม่ผมขายข้าวแกง ร้านขายของ และมีประสบการณ์ด้านการค้าขายมาอย่างยาวนาน เมื่อโตขึ้นก็เอาประสบการณ์นั้นมาทำตลาด เราทราบดีเวลาแม่จะทำกับข้าวก็จะต้องจับจ่ายใช้สอย เราเห็นตลาดมาตั้งแต่เด็กๆ โตมามีโอกาสก็มาทำตลาด”

 

เสรี สุวรรณภานนท์ พาทีมข่าว THE STANDARD 

สำรวจตลาดเสรี 2 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสัมภาษณ์พิเศษ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

หลังจากนี้คงจะมาบริหารกิจการที่เราทำอยู่ และในอนาคตวางแผนว่าจะทำสถานที่จัดงานแต่งงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สนใจ เพราะเราสังเกตได้ว่าการแต่งงานของคนรุ่นใหม่จะเน้นไปที่ความสวยงาม ถ่ายรูปได้ และเราก็เห็นว่าเป็นงานที่คนทุกคนจะต้องมี

 

THE STANDARD ถามต่อว่า “ยังสนใจงานทางการเมืองอยู่หรือไม่”

 

เสรีตอบว่า ขอดูจังหวะเมื่อถึงเวลานั้นก่อน ค่อยตัดสินใจอีกครั้ง ตอนนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้เว้นว่างทางการเมืองไป 2 ปี และ 2 ปีนี้เราก็มีงานที่ต้องทำมากมายอยู่แล้ว

 

“เมื่อถึงเวลาแล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่า เราพอที่จะช่วยงานเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอะไรได้บ้าง เราก็พร้อมที่จะทำ ไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง ไม่ได้จบแล้วจบเลย ใช่ว่าเราเริ่มแก่แล้วต้องหยุดแล้ว ผมไม่คิดแบบนั้น ผมคิดว่าผมมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะผมทำงาน แล้วผมก็จะไม่หยุดจนกว่าจะเดินไม่ไหว หรือสมองจะทำงานไม่ได้”

 

ก่อนจบบทสนทนา THE STANDARD ถามถึงการทำให้ตลาดประสบความสำเร็จว่า ตลาดเสรี 2 แห่งนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก เพราะมีเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา และวางแผนก่อนเปิดตลาดมาเป็นอย่างดี ทุกบล็อกต้องมีร้านครบ ศึกษาฮวงจุ้ย วางหลวงปู่ทวดหน้าร้าน อย่างน้อยๆ ให้คนได้เข้ามากราบสักการะ และมีการประชาสัมพันธ์แจกโบรชัวร์หลายหมื่นใบ

 

“เคล็ดลับอย่างหนึ่งในโบรชัวร์เรามีหลวงปู่ทวดอยู่ด้วย คนก็จะไม่กล้าทิ้งโบรชัวร์ แล้วก็ทำให้เราเพิ่มการมองเห็นจากลูกค้ามากขึ้น และในวันเปิดตลาดเราแจ้งว่า เราจะแจกหลวงปู่ทวดด้วย เราแจกโบรชัวร์ไป 4-5 หมื่นใบ ในวันนั้นก็มีคนมา 4-5 พันคน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

 

ตลาดของเราตั้งอยู่หลังโรงพยาบาล เป็นทำเลทอง มีคนเดินเข้าเดินออกมาใช้บริการเช้า เที่ยง เย็น ทำให้ร้านค้าสามารถขายของได้เกือบทั้งวัน ส่วนรายได้ต่อวันเยอะหรือไม่นั้น เสรีตอบสั้นๆ พร้อมหัวเราะอย่างมีความสุข “อย่ารู้เลย” จบการสนทนาไว้เพียงเท่านี้

 

เสรี สุวรรณภานนท์ พาทีมข่าว THE STANDARD 

สำรวจตลาดเสรี 2 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสัมภาษณ์พิเศษ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising