×

นักวิชาการ มธ. เสนอให้ สปสช. ดูแลรักษาพยาบาล ‘ผู้ประกันตน’ หนุนแยก ‘ประกันสังคม’ ออกจากระบบราชการ

โดย THE STANDARD TEAM
23.02.2025
  • LOADING...
นักวิชาการ มธ. เสนอปฏิรูประบบประกันสังคม แยกออกจากราชการ ให้ สปสช. ดูแลรักษาพยาบาล

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) จากกรณีที่กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าเตรียมเสนอกฎหมายเพื่อแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการแบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วยเหตุผลว่า จะสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนประกันสังคมได้ โดยมีผู้บริหารมืออาชีพและไม่ติดกรอบระเบียบราชการ 

 

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แนวคิดเรื่องการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ท่ามกลางฉันทมติของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมอยู่ในขณะนี้ อาจจะผลักดันได้ง่ายกว่าเรื่องการรวมกองทุน 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

 

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า หลักการสำคัญของการแยกประกันสังคมออกมาคือความเป็นอิสระขององค์กร ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านกระบวนการหรือวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่จะต้องตอบโจทย์และเป็นตัวแทนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อีกทั้งจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กำกับติดตามการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนรูปแบบองค์กรจะเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันต่อได้ในรายละเอียดอีกทีได้ 

 

“มาจนถึงวันนี้ ถ้าเราเอาแต่คิดเรื่องดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างเดียวก็ไม่ได้ทำให้รายได้หรือเงินที่มีอยู่เพิ่มพูนตามไปด้วย เพราะคนเข้ามามากขึ้นอัตราการจ่ายออกก็ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นเช่นเดียวกัน มันจึงต้องมีผู้บริหารกองทุนที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารเงินสมทบของผู้ประกันตนให้งอกเงยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การประเมินความเสี่ยงระดับโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามากระทบกับเม็ดเงินในกองทุนประกันสังคม นี่คืออีกเหตุผลที่ต้องมีผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเข้ามาคอยประเมินสถานการณ์ และหาวิธีในการเฝ้าระวังและรับมือแบบกองทุนอื่นๆ ทั่วโลก” ดร.กฤษฎา กล่าว

 

นอกจากนี้ ต่อกรณีที่มีการตั้งคำถามและมีความกังวลว่าการแก้ไขเพิ่มเติม ‘ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม’ ที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2565 และกำลังจะนำเข้ามาพิจารณา อาจทำให้มีการยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคมนั้น ดร.กฤษฎา กล่าวว่า เห็นด้วยว่าสัดส่วนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนควรมาจากระบบการเลือกตั้ง และมากกว่านั้นคือสัดส่วนของผู้ประกันตนควรมีจำนวนมากกว่าสัดส่วนของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายรัฐบาล

 

“คนอื่นอาจจะมองว่าระบบสัดส่วนควรจะมีการแบ่งฝ่ายละเท่าๆ กัน (รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง) แต่ส่วนตัวอาจจะมองต่างออกไป เพราะคิดว่าสัดส่วนของฝ่ายลูกจ้างหรือผู้ประกันตนควรจะต้องมากกว่า เพราะจากประวัติศาสตร์ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เวลาตัดสินใจทางนโยบายใดๆ ก็ตามแต่ จะพบว่าฝ่ายรัฐกับฝ่ายนายจ้างมักจะไปในทิศทางเดียวกันเสมอ ไม่ใช่แค่ประกันสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงบอร์ดไตรภาคีอื่นๆ ที่มาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้งในกระทรวงแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน จึงคิดว่าสัดส่วนของผู้ประกันตนควรจะต้องมากกว่า” ดร.กฤษฎา กล่าว

 

ดร.กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า หากสามารถช่วยกันติดตามให้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนยังคงมาจากการเลือกตั้ง และแก้ไขการเพิ่มสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนให้มากกว่าทั้งสองฝ่ายตามหลักไตรภาคี รวมไปถึงการดำเนินการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการได้ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการบริหารกองทุนประกันสังคมจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะร่วมกันผลักดันเรื่องการรวมกองทุนเฉพาะส่วนของการรักษาพยาบาลต่อไปในอนาคต ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และไปไกลกว่าบทบาทและอำนาจของประกันสังคม ที่จะต้องผลักดันให้กลายวาระระดับชาติ โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกรัฐบาล ร่วมมือกับหลายหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ในอนาคตควรจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของประกันสังคม ซึ่งหากถ่ายโอนทั้งหมดไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นฝ่ายดูแล จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ขณะที่กองทุนประกันสังคมสามารถนำเงินส่วนต่างที่ไม่ต้องดูแลเรื่องบริการสุขภาพ กว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท ไปเพิ่มเติมสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ผู้ประกันตนแทน เช่น นำไปเพิ่มเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ให้มากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดูแลตนเองในระดับพื้นฐาน

 

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่กฎหมายบังคับให้แรงงาน (ที่มีนายจ้าง) ต้องเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนมองว่า ได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลน้อยกว่าสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ควรจะมีการเปิดช่องให้ผู้ประกันตนเลือกได้หรือไม่ว่าจะใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิประกันสังคม 

 

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้ดูแลเพียงแค่การรักษาพยาบาล แต่ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น เรื่องการคลอดบุตร เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน เงินบำนาญ ฯลฯ ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตน สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกประเทศ จึงต้องมีมาตรการบังคับให้ลูกจ้างเข้าสู่ประกันสังคม

 

“นอกจากนี้ทิศทางและอนาคตของระบบราชการที่จะมีลูกจ้างภาครัฐ (ใช้สิทธิบัตรทอง) และพนักงานราชการ (ใช้สิทธิประกันสังคม) เยอะมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนของข้าราชการที่เบิกจ่ายค่ารักษาจากกรมบัญชีกลางมีจำนวนที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะรัฐเองก็ต้องการลดบทบาทเรื่องสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว เหมือนกับที่อาจารย์มหาลัยโดนกันไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งหากเราสามารถรวมกองทุนประกันสังคมและบัตรทองได้ ก็จะเป็นการปูรากฐานการดูแลระบบบริการสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนจะนำไปสู่การรวมกองทุนการรักษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันสำหรับประชาชนทุกคน” ดร.กฤษฎา กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising