พวกเราต่างทราบกันดีว่า การหาคู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากการออกไปพบปะผู้คนตามห้างสรรพสินค้า บาร์ คาเฟ่ หรือคอนเสิร์ต ย่อมไม่ง่ายดายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การหาคู่ในโลกเสมือนจริงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มคนทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’
จากผลการสำรวจของ Choice Mutual บริษัทตัวแทนประกันภัยอิสระ พบว่า ผู้สูงอายุกำลังลงสู่สนามแอปพลิเคชันหาคู่มากขึ้น โดย แอนโทนี มาร์ติน ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุกำลังเล่นเกมหาคู่บนโลกออนไลน์กันอย่างแข็งขัน และ 37% ของพวกเขาก็ได้ออกเดตแล้ว
“พวกเขาใช้วิธีเดียวกับคนหนุ่มสาวในการพบปะกับผู้คนใหม่ๆ รวมถึงการเข้าไปยังโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อที่จะหาคนที่ใช่สำหรับพวกเขา” มาร์ตินกล่าว
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่ออกเดตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้หันไปให้แอปพลิเคชันหาคู่ช่วยเหลือ และตามที่ Choice Mutual สำรวจมา หลายคนประสบความสำเร็จจากการหาคู่ด้วยวิธีนี้ มีรายงานว่าประมาณ 2 ใน 3 หรือ 66% ของผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์หาคู่ ‘มีความสัมพันธ์’ กับคนที่พวกเขาเจอในนั้น
“พวกเราได้ถามกลุ่มคนสูงอายุว่า วิธีไหนที่พวกเขาใช้หาคู่แล้วได้ผลลัพธ์ดีที่สุด 11% ที่กำลังอยู่ในช่วงคบหาดูใจตอบว่า โซเชียลมีเดียคือช่องทางที่ดีในการพบปะผู้คน ในขณะที่ 21% ตอบว่าแอปพลิเคชันและเว็บไซต์หาคู่” มาร์ตินเสริม
และไม่แปลกใจหากแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง Tinder จะเป็นแอปพลิเคชันหาคู่ที่พวกเขาใช้เยอะที่สุด โดยมีประมาณ 35% ที่ใช้แอปพลิเคชันนี้เผยว่า พวกเขาเจอคู่ในแพลตฟอร์มนี้ ตามมาด้วยอีก 28% เผยว่า พวกเขาใช้ Match.com บ่อยที่สุด นอกจากนี้ก็มี Hinge (25%), Plenty of Fish (25%) และ Bumble (24%)
จากการสำรวจนี้ ทำให้มุกตลกที่เคยบอกว่า ผู้สูงอายุไม่เข้าใจเทคโนโลยีหรอก กลายเป็นมุกที่เชยไปแล้ว
“ทุกวันนี้พวกเขารู้สะดวกใจที่จะใช้งานสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ทศวรรษที่ผ่านมา เว็บไซต์หาคู่ของผู้สูงอายุได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน” ลอน แซฟโก (Lon Safko) กล่าว ซึ่งเขาเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และผู้แต่งหนังสือ The Social Media Bible
สืบเนื่องจากการเติบโตของแอปพลิเคชันและเว็บไซต์หาคู่ที่มีผู้สูงอายุเข้ามาลงสนามมากขึ้น ชาร์ลส์ คิง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pund-IT กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดอิทธิพลต่อ 2 สิ่ง ได้แก่ สมาร์ทโฟนจะมีการเชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูล และการใช้งานบริการออนไลน์ที่ง่ายขึ้น
และบทบาทของโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Twitter หรือ Instagram จะได้รับการยอมรับในชีวิตของผู้คนจำนวนมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางและวิธีการใหม่ในการเชื่อมต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ดังนั้น การจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันหาคู่จึงไม่ใช่เรื่องยากอย่างเมื่อก่อนแล้ว
ผลการสำรวจนี้ได้ล้มล้างความคิดที่ว่าผู้สูงอายุไม่ยอมรับเทคโนโลยีไปได้แล้ว ชาร์ลส์กล่าวอีกว่า แม้จะยังมีคนบางกลุ่มที่ใช้ช่องทางนี้น้อยกว่าคนอื่นๆ แต่จากข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป
รวมถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่นอกเหนือจากการเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น นั่นก็คือ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีสถานะ ‘โสด’ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งความกลัวในการใช้เทคโนโลยีและการพบปะผู้คนบนโลกออนไลน์ที่ลดน้อยลงนี้ ก็ได้ทำให้หลายคนประสบความสำเร็จจากการใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์หาคู่ อีกทั้งช่องทางเหล่านี้ยังรองรับกลุ่มคนสูงอายุ และทำให้แพลตฟอร์มนี้ง่ายต่อการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่โรคระบาดก็มีบทบาทต่อการใช้เทคโนโลยีของคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ FaceTime กับ Zoom ซึ่งแซฟโกได้สรุปปิดท้ายว่า
“เนื่องจากอายุที่มากขึ้น และกิจกรรมในชีวิตที่น้อยลง ผู้สูงอายุมีเครือข่ายทางสังคมที่น้อยเกินกว่าจะหันไปหาคู่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เว็บไซต์อย่าง Zoosk, EliteSingles, SilverSingles และ Our Time มุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุ ในขณะที่แพลตฟอร์มหาคู่แบบเก่าอย่าง Match.com, Christian Mingle หรือ eharmony ต่างก็มีตัวเลขการใช้งานที่เติบโตอย่างมากจากประชากรกลุ่มนี้เช่นกัน”
ภาพ: Nadia Popova via ShutterStock
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: