×

‘Senior Year’ หนังวัยรุ่นที่ทำให้รู้ว่า ผ่านมา 20 ปี เราเปลี่ยนค่านิยมบ้งๆ ไปเยอะแล้วเหมือนกัน

19.05.2022
  • LOADING...
Senior Year

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สิ่งแรกเลยที่น่าจะถูกใจผู้ชมวัย 30+ คือหนังพาเราย้อนวัยไปสู่ช่วงวัยรุ่นผ่านเพลย์ลิสต์เพลงฮิตในยุคต้น 2000 ทั้ง Sk8er Boi ของ Avril Lavigne, Candy ของ Mandy Moore, (You Drive Me) Crazy ของ Britney Spears, Hot In Herre ของ Nelly แบบที่ทำให้อึ้งว่าเพลงเหล่านี้มันมีอายุ 20 ปีแล้วจริงๆ เหรอ? 
  • ส่วนคนดูรุ่นใหม่ก็ได้ขำขันไปกับความเปิ่นโก๊ะของมนุษย์ป้าที่คิดว่าตัวเองยังเปรี้ยวอยู่ และการเสียดสีเรื่องค่านิยมที่แตกต่างของคนยุคต้น 2000 กับเด็กรุ่นใหม่ในโรงเรียนเดิมที่ถูกสร้างให้เป็นโลกแห่งความเท่าเทียม
  • กิจกรรมที่เคยส่องสปอตไลต์ให้กับคนบางกลุ่มถูกยกเลิกไป การมีเพื่อนเยอะๆ ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว แต่กลายเป็นยอดฟอลโลเวอร์ในโซเชียลมีเดียแทน 

ความคาดหวังเดียวจากการเปิดดู Senior Year ก็คงเป็นความสนุก เบาสมอง และที่น่าตื่นเต้นขึ้นมาหน่อยก็คือเป็นหนังเรื่องแรกที่ Rebel Wilson ปรากฏตัวด้วยรูปร่างใหม่ ซึ่งหนังก็ทำหน้าที่นั้นได้ดี แต่สิ่งที่แถมมาคือประเด็นที่แตกต่างของค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้เราได้ย้อนกลับไปมองว่า 20 ปีที่ผ่านมา เราผ่านแนวคิดบ้งๆ และเปลี่ยนมันไปเยอะแล้วเหมือนกัน 

 

 

Senior Year เป็นเรื่องราวของ สเตฟานี (Rebel Wilson) เด็กสาวจากออสเตรเลียที่ย้ายมาอยู่อเมริกาช่วงปลายยุค 90 เธอพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้กลายเป็นที่ยอมรับ จนสามารถเป็นหัวหน้าทีมเชียร์ลีดเดอร์ และแบกความใฝ่ฝันเดียวในชีวิตเอาไว้คือการได้เป็นราชินีงานพรอม แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่เธออายุ 17 ปี ในปี 2002 สเตฟานีประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไป 20 ปี ตื่นมาอีกทีก็อยู่ในปี 2022 เสียแล้ว เธอพยายามสานฝันด้วยการกลับเข้าไปเรียนไฮสคูลอีกครั้ง กลายเป็นความวายป่วงของมนุษย์ป้าวัย 37 ที่หัวใจยังเป็นเด็กสาวอายุ 17 ที่จะทำอย่างไรให้ความฝันเป็นจริง 

 

สิ่งแรกเลยที่น่าจะถูกใจผู้ชมวัย 30+ คือหนังพาเราย้อนวัยไปสู่ช่วงวัยรุ่นผ่านเพลย์ลิสต์เพลงฮิตในยุคต้น 2000 ทั้ง Sk8er Boi ของ Avril Lavigne, Candy ของ Mandy Moore, (You Drive Me) Crazy ของ Britney Spears, Hot In Herre ของ Nelly แบบที่ทำให้อึ้งว่าเพลงเหล่านี้มันมีอายุ 20 ปีแล้วจริงๆ เหรอ?

 

และทำให้นึกถึงหนังวัยรุ่นอเมริกันคลาสสิกอย่าง Clueless, Legally Blonde, Mean Girl ฯลฯ 

 

ส่วนอีกหนึ่งความฮาที่คนดูรุ่นใหญ่เก็ตก็คือ การหยิบจับเอาวัฒนธรรมป๊อปที่เคยฮิตสุดๆ ในยุคต้น 2000 แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ฮอตขนาดนั้น เช่น น้ำหอม CK, งานประกาศรางวัล VMAs, ทามาก็อตจิ ฯลฯ มาล้อเลียน รวมทั้งมุกแซะอย่างการคิดว่า Madonna เปลี่ยนชื่อเป็น Lady Gaga เพราะเหมือนกันเหลือเกิน เป็นต้น

 

 

ส่วนคนดูรุ่นใหม่ก็ได้ขำขันไปกับความเปิ่นโก๊ะของมนุษย์ป้าที่คิดว่าตัวเองยังเปรี้ยวอยู่ และการเสียดสีเรื่องค่านิยมที่แตกต่างของคนยุคต้น 2000 กับเด็กรุ่นใหม่ในโรงเรียนเดิม ที่ถูกสร้างให้เป็นโลกแห่งความเท่าเทียม กิจกรรมที่เคยส่องสปอตไลต์ให้กับคนบางกลุ่มถูกยกเลิกไป การมีเพื่อนเยอะๆ ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว แต่กลายเป็นยอดฟอลโลเวอร์ในโซเชียลมีเดียแทน ทั้งหมดทั้งมวลทำให้สเตฟานีช็อก และคิดว่าโรงเรียนไม่สนุกเอาเสียเลย จึงอยากจะดึงเอาสีสันเดิมๆ กลับคืนมา 

 

 

เรื่องความตลกโปกฮาการันตีได้อยู่แล้ว แต่ที่ชอบมากคือการหยิบประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่หากใครมีประสบการณ์ร่วมคงคิดว่าเราผ่านเรื่องราวนั้นๆ มาได้อย่างไร เช่น การเต้นเชียร์ลีดเดอร์ที่เน้นลูบไล้เนื้อตัวของเด็กวัยยังไม่ถึง 20 ปี เหมือนจะเร่งให้กลายเป็นผู้ใหญ่ให้เร็วที่สุด แต่ถ้าดูตอนนี้มันคือเรื่องที่ล้าสมัยเอามากๆ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ใส่ใจกับความคิดที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แทน และบางทีมันก็มากไปจนหลงลืมความสนุกในช่วงวัยของตัวเอง อย่างเช่น ตัวละคร เจเน็ต เพื่อนสาวอเมริกันอินเดียของสเตฟานี ผู้หมายมั่นจะเป็นประธานาธิบดีอเมริกาในอนาคต จนไม่กล้าทำอะไรเพี้ยนๆ หรืออย่าง บรี ลูกสาวของ ทิฟฟานี คู่แค้นของสเตฟานี ผู้พร้อมจะพ่นค่านิยมสมัยใหม่ที่ตัวเองยึดถือ จนกลายเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ในโลกออนไลน์

 

 

อีกเรื่องที่หยิบขึ้นมาเล่าก็คือเรื่องคำว่า ‘เกย์’ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นคำเหยียด แต่ก็ไม่ควรใช้อีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ถึงขนาดที่ในปี 2008 (ปีที่สเตฟานียังหลับอยู่) มีแคมเปญ ‘Think Before You Speak’ รณรงค์เลิกใช้คำนี้ในแนวทางเหยียด เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายในโรงเรียนมาแล้ว รวมทั้งจุดเล็กๆ เช่น ตอนที่สเตฟานีพูดว่า “คนที่จะป๊อปได้ต้องเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ทำงานที่ Abercrombie หรือไม่ก็ให้ผู้ชายทะลวงตูด” ถ้าใครได้ร่วมสมัยก็จะรู้ว่า Abercrombie & Fitch เคยเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ด้วยภาพลักษณ์วัยรุ่นอเมริกันสมบูรณ์ (ซึ่งมักเป็นหนุ่มหุ่นล่ำผิวขาว) และเลือกพนักงานขายหน้าตาดีเท่านั้น 

 

แต่ปัจจุบันแบรนด์นี้กลับเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะแนวคิดแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่รับไม่ได้ (ชมเรื่องราวของแบรนด์นี้ได้ในสารคดี เรื่อง White Hot: The Rise & Fall of Abercrombie & Fitch ใน Netflix)

 

ถึงแม้จะมีค่านิยมที่แตกต่าง แต่จุดร่วมของวัยรุ่นทุกยุคคือความต้องการการยอมรับ เพียงแต่ใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป 

 

 

อย่างในเรื่องที่สเตฟานีอยากมีเพื่อนห้อมล้อมในโรงเรียนและคว้าตำแหน่งพรอมควีน โดยต้องพยายามเสแสร้งเป็นคนอื่น ส่วนบรีใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโชว์แต่ด้านดีๆ ของตัวเอง โดยมีแม่ทั้งผลักทั้งดันและเป็นคู่แข่งกลายๆ ของลูกสาว ทั้งที่ตัวเธอเองก็ไม่แน่ใจว่านั่นใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองหรือเปล่า

 

อีกหนึ่งจุดขายของเรื่องก็คือนักแสดง Rebel Wilson และก็เป็นจุดอ่อนของเรื่องไปด้วยเหมือนกัน จากความพยายามตลกและมุกกักขฬะที่เจ้าตัวถนัด จนแอบคิดว่าถ้าได้นักแสดงที่ให้อารมณ์เจ้าแม่ไฮสคูลได้ดีกว่านี้ ถึงจะไม่ตลกเท่า แต่เรื่องก็น่าจะดูสมจริงกว่า อ้อ… เผื่อใครไม่รู้จัก นักแสดงที่มารับบทตัวละครลับ เดียนา รุสโซ คนนั้นน่ะควีนบีแห่งยุค 90 ตัวจริง 

 

Senior Year รับชมได้ทาง Netflix

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising