×

ศาลชั้นต้นพิพากษาคุก 6 ปี อดีตพระพรหมดิลกคดีเงินทอนวัด ไม่รอลงอาญา ทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2019
  • LOADING...
เงินทอนวัด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. ที่ห้องพิจารณา 7 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.196/2561 ฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้อง เอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณ และเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีร่วมกันฟอกเงิน จากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยาจำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ทั้งที่ไม่มีการดำเนินโครงการ โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยานำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561

 

ขณะที่อดีตพระเถระทั้งสองได้สึกจากความเป็นพระ และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่การฝากขังในชั้นสอบสวนนับจากวันที่ 24 พ.ค. 2561 จนถึงการพิจารณาในชั้นศาล เนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

โดยวันนี้ (16 พ.ค.) ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา ซึ่งสวมชุดสีขาว โดยมีพระลูกวัดและญาติโยมติดตามมาร่วมให้กำลังใจอดีตพระเถระผู้ใหญ่ทั้งสองคน และร่วมฟังผลคำพิพากษาร่วม 50 คน

 

ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนพยานโจทก์-จำเลยแล้ว เมื่อปี 2556-2557 พศ. ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 จำนวน 72 ล้านบาทให้กับวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ โดยวัดสามพระยาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ได้รับงบประมาณมา 5 ล้านบาท จากนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ. ขณะนั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิร่วมเบิกเงินจากบัญชีวัด ได้มอบอำนาจให้ฆราวาสเบิกถอนเงินที่ได้รับสนับสนุนจาก พศ. ในโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งที่ความจริงแล้ววัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ แต่อย่างใด

 

ซึ่งข้อเท็จจริงตามการไต่สวนรับฟังได้ว่ามีการเบิกถอนเงินจากบัญชีของวัดจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก 500,000 บาท ครั้งที่สอง 1.9 ล้านบาท และครั้งที่สาม 1.68 ล้านบาท โดยเมื่อเบิกถอนเงินมาแล้วจำเลยทั้งสองได้นำเงินดังกล่าวโอนเข้าบัญชีวิภาพร อุดมโชคปิติ ที่อ้างว่าเป็นการสำรองค่าก่อสร้างให้ก่อน

 

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเงินดังกล่าวเป็นการอนุมัติตามที่เคยมีหนังสือ 2 ฉบับของบประมาณในการก่อสร้างอาคารร่มธรรมฯ และอาคารสงฆ์นั้น ศาลเห็นว่าจากการตรวจสอบเอกสารของบจาก พศ. ไม่ได้มีการลงเลขรับจากหน้าห้องนพรัตน์ อดีต ผอ. สำนักพุทธฯ อย่างถูกต้อง และยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ พศ. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไว้เป็นพยาน ระบุว่างบที่จัดสรรนั้นยังมีในส่วนของวัดอื่น โดยก่อนหน้าวัดสามพระยาก็มีการจัดสรรให้วัดอีก 2 แห่ง ที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรู้ดีอยู่แล้วว่างบดังกล่าวเป็นงบเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนเอกสารที่จำเลยที่สองอ้างว่าเจ้าหน้าที่ พศ. ได้นำมาให้ โดนเว้นช่องรายละเอียดไว้เพียงแค่ให้ลงชื่อนั้น ก็เป็นการนำมากล่าวอ้างหลังจากตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ 1 นัดไปแล้ว ทั้งที่จำเลยอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นเพียงสำเนา ไม่มีเอกสารตอบการรับเงินด้วย ทั้งที่เป็นเอกสารที่ควรอยู่คู่กัน ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการใช้งบที่ผิดวัตถุประสงค์รับฟังไม่ได้ เพราะงบดังกล่าววัดสามพระยาไม่ได้รับตั้งแต่แรก ซึ่งหากเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ งบที่ได้มานั้นก็ต้องได้มาตามสิทธิ์ที่ถูกต้องด้วย

 

พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก และรับฟังได้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการทุจริตจัดสรรงบของ พศ. ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้ดีว่าเงินที่ได้มาใช้เพื่อสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ เท่านั้น โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเจ้าพนักงานปกครองวัดจึงจะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่า

 

โดยเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์คดีนี้แล้ว เห็นว่าแม้จะมีการเบิกเงินในบัญชี 3 ครั้ง ครั้งแรกเช้าวันที่ 13 ธ.ค. 2556 จำนวน 500,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่คงอยู่ในบัญชีของวัดสามพระยาที่คงเหลืออยู่ 1.63 ล้านบาทเศษ เพราะเมื่อได้รับเช็คงบประมาณ 5 ล้านบาทมาแล้ว ได้นำเข้าเช็คต่างธนาคารในวันที่ 12 ธ.ค. 2556 ซึ่งจะเบิกจ่ายได้ช่วงบ่ายของวันถัดไป จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินของวัดที่มีอยู่เดิม

 

ส่วนครั้งที่ 2 วันที่ 7 ม.ค. 2557 จำนวน 1.9 ล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 14 ม.ค. 2557 ที่เบิกไป 1.68 ล้านบาทเศษนั้น รับฟังได้ว่าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณดังกล่าว โดยมีการเบิกเข้าบัญชีวิภาพร และไปฝากบัญชีเงินฝากประจำชื่อบัญชีของวัด จนได้รับดอกเบี้ยแล้วถอนเงินดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมฯ และอาคารพักสงฆ์ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการรับโอนเงิน และเปลี่ยนสภาพจากการกระทำผิด ความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5(1)(2),60 ประกอบประมวลกฎหมายมาตรา 83

 

ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยทุจริต และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 เห็นว่าจะต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในการปฏิบัติโดยตรง แต่เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการมอบอำนาจเบิกเงินจากบัญชี ไม่ใช่อำนาจโดยตรง จึงไม่มีความผิดตามฟ้องในข้อหานี้

 

จึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทง กระทงละ 2 ปี ให้จำคุกเอื้อน กลิ่นสาลี หรืออดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา รวมจำคุก 6 ปี และสมทรง อดีตพระอรรถกิจโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี

 

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว โกศล ใสสุวรรณ ทนายความอดีตพระพรหมดิลก จำเลยที่ 1 เปิดเผยว่าจะอุทธรณ์สู้คดีแน่นอน

 

ส่วนประเด็นที่จะอุทธรณ์สู้คดีนั้น แม้ข้อเท็จจริงยุติว่าวัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แต่วัดได้ของบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์อาคารร่วมธรรม และ พศ. ได้พิจารณางบประมาณให้แล้ว ซึ่งวัดสามพระยาได้มอบฉันทะไปทำเรื่องรับเช็คจำนวน 5 ล้านบาทแล้วนำมาใช้ก่อสร้างอาคารจริงๆ จึงไม่ใช่การทุจริต และเห็นว่าขั้นตอนวิธีทางปฏิบัติโอนเช็คดังกล่าว พศ. ใช้กับทุกวัด แต่ถ้าเป็นเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ พศ. จะใช้ช่องทางโอนเงินเข้าบัญชีของวัดโดยตรง ซึ่งการอุทธรณ์จะสู้ในประเด็นนี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ. นับตั้งแต่ปี 2557 ให้กับวัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและวัดในพื้นที่ กทม. มูลค่านับ 150 ล้านบาทนั้น พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งวัดสามพระยา วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กับกลุ่มฆราวาส และกลุ่มข้าราชการสำนัก พศ. รวมกว่า 20 ราย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising