วันนี้ (6 กันยายน) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) เฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงขั้นตอนการดำเนินการในส่วนของกรุงเทพมหานคร กรณีนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง เรียกรับสินบน 50,000 บาท แลกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
เฉลิมพลกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2748/2566 ลงวันที่ 5 กันยายน 2566 และมีคำสั่งให้ช่วยราชการ คือ คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2749/2566 ให้ข้าราชการรายดังกล่าวไปช่วยราชการที่กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา ซึ่งเป็นกองที่ไม่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับประชาชน โดยให้ไปช่วยราชการในทันที
ส่วนในวันนี้ปลัดกรุงเทพมหานครจะลงนามในคำสั่งพักราชการข้าราชการรายดังกล่าว ตามกฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ข้อ 85 ซึ่งการพักราชการนี้จะมีกำหนดไม่เกิน 120 วัน หากจะต่ออีกจะได้ไม่เกินอีก 60 วันต่อครั้ง
เฉลิมพลกล่าวต่อว่า การที่ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน หรือการย้ายงานแล้วกลับมาที่เดิม อาจเป็นการสร้างอิทธิพล ทำให้เกิดปัญหาได้ สังเกตได้จากรายดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีการหมุนเวียนหรือโยกย้ายการทำงานแล้วกลับมาที่เดิม โดยปี 2549 อยู่ที่สำนักงานเขตลาดกระบัง, ปี 2560 สำนักงานเขตห้วยขวาง, ปี 2561 สำนักงานเขตลาดกระบัง, ปี 2564 สำนักงานเขตวังทองหลาง และกลับมาที่สำนักงานเขตลาดกระบังอีกครั้งหนึ่ง
กรณีนี้ผู้บริหารอาจต้องพิจารณาเรื่องการโยกย้ายสถานที่ทำงาน รวมถึงระบบการยื่นขออนุญาตต่างๆ ด้วย โดยมีคณะพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้ในด้านการสอบวินัยร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการเพื่อหาผู้กระทำผิดที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในส่วนของเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องทางคดีอาญา จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขยายผลต่อไป
พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ติดตามมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพียงแต่พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน โดยได้ประสานกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) อยู่ตลอด เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ไปตามช่องทางของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สายด่วน 1206 ส่วนช่องทางของกรุงเทพมหานครก็มีหมายเลขรับเรื่องราวร้องทุกข์คือ 1555 และ Traffy Fondue
กรุงเทพมหานครจริงจังกับการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน และขอย้ำกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครว่าอย่าเรียกรับทรัพย์สินเงินทองจากประชาชน กรุงเทพมหานครยุคนี้เอาจริงในเรื่องการป้องกันการทุจริต จะไม่มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิด ส่วนในเรื่องการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ได้พูดคุยกันในระดับบริหารว่าจะต้องมีการรับผิดชอบเป็นลำดับชั้น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชามีส่วนรับผิดชอบกรณีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดด้วย
พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวต่อว่า ซึ่งในกรณีนายช่างโยธาอาวุโส หัวหน้าฝ่ายโยธาจะต้องทราบขั้นตอนในการให้บริการประชาชน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเท่าไร ทำไมถึงใช้เวลานาน ขั้นตอนต่างๆ ที่ประชาชนทำแล้วไม่ครบถ้วนได้มีการแนะนำอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ควรจะต้องบันทึกเป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเดินเรื่องและขั้นตอนต่างๆ ได้ และจะได้ทราบว่ากระบวนการไปช้าที่ส่วนใดและด้วยเหตุใด หากช้าเพราะเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการทางวินัย หรือหากช้าเพราะมีการเรียกรับผลประโยชน์ก็ดำเนินคดีอาญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้บังคับบัญชาระดับผู้อำนวยการเขตต้องเข้ามาสอดส่องดูแล
ต่อไปอยากให้มีระบบในการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยฝ่ายปกครองหรือผู้อำนวยการเขตจะต้องดูได้ว่าวันนี้ออกเลขให้กับประชาชนไปเท่าไร เป็นเรื่องใบอนุญาต ขออนุญาตอะไรบ้าง เมื่อครบกำหนดให้ระบบแจ้งเตือนเองว่าวันนี้จะต้องออกใบอนุญาตให้ใครบ้าง ผู้อำนวยการเขตเซ็นหรือยัง เพื่อให้ผู้อำนวยการเขตรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไร หากกระบวนการล่าช้าจะต้องติดตามตรวจสอบจากฝ่ายที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งหากมีระบบนี้ ช่องทางในการเรียกรับก็จะลดน้อยลง
ทั้งนี้ ขอฝากเรื่องของประมวลจริยธรรม ทั้งการครองตน การครองงาน เพื่อให้การทำงานอยู่บนระบบคุณธรรม มีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจน มีความซื่อสัตย์สุจริต สะดวกรวดเร็ว รักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รักษาภาพลักษณ์ของหน่วยงาน รวมถึงคิดไตร่ตรองก่อนทำด้วย
พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวว่า ส่วนประชาชนหากถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับ ให้หาช่องทางในการแจ้งข้อมูล โดยสามารถแจ้งกับกรุงเทพมหานครได้ที่ระบบ Traffy Fondue ซึ่งเป็นระบบปิด และจะมีหน่วยงานรับเรื่องทุจริตไปดำเนินการโดยเฉพาะ อย่ากลัวที่จะให้ข้อมูลชื่อและเบอร์โทรศัพท์ เนื่องจากจะต้องมีการติดต่อกลับ
และอีกช่องทางหนึ่งคือสายด่วน 1555 โดยสายด่วนปัจจุบันจ้าง Outsource รับเรื่อง จะหารือกับผู้บริหารอีกครั้งเพื่อหาแนวทางสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะแจ้งเรื่องเข้ามา ปรับปรุงช่องว่างที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกใจในการแจ้งข่าวสาร
“อย่างไรก็ตาม การปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ดังนั้น เมื่อ กทม. พยายามกระจายอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการ แต่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือในการกระจายอำนาจไปในทางแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองแล้ว เราอาจจะต้องมีเงื่อนไขหรือวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อควบคุมดูแลและเพื่อลดช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ต่อไป” พล.ต.อ. อดิศร์กล่าว
สำหรับข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) มีเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2566 ทั้งสิ้น 206 เรื่อง จำแนกตามสายงาน เป็นสายงานโยธา 40 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ 12 เรื่อง จาก 10 เขต
นอกจากการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อออกใบอนุญาต 12 เรื่องแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้าง รื้อถอนอาคารแต่หน่วยงานดำเนินการล่าช้า, ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลที่สาธารณะ, งานบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย ไม่ได้บรรจุ, การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว และกรณีอื่นๆ เช่น ปรับปรุงพื้นถนนและทางลอดอุโมงค์ล่าช้า, ป้ายขนาดใหญ่ยื่นนอกอาคาร ฯลฯ
ทั้งนี้ จากเรื่องร้องเรียนทั้ง 206 เรื่อง แบ่งเป็นการรับแจ้งจากช่องทาง Traffy Fondue จำนวน 174 เรื่อง คิดเป็น 84.47% ช่องทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จำนวน 31 เรื่อง คิดเป็น 15.05% และทางอีเมล จำนวน 1 เรื่อง คิดเป็น 0.49% จำแนกตามสายงาน (3 อันดับแรก) ได้เป็น โยธา 40 เรื่อง เทศกิจ 39 เรื่อง และรักษาความสะอาด 36 เรื่อง