×

เลือกตั้ง 2566 : ชัดๆ ส.ว. คนไหนแสดงจุดยืนโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมาก ส.ส.

โดย THE STANDARD TEAM
17.05.2023
  • LOADING...

การรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล กำลังมาถึงจุดที่หลายคนเฝ้าจับตามอง แม้ประกาศว่าได้เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลมา 310 เสียง แต่อีกหนึ่งส่วนที่ต้องฝ่าด่านไปให้ได้ก็คือเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ลงชื่อสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล 

 

การลงคะแนนเสียงของ ส.ว. ครั้งนี้ นับเป็นครั้งสุดท้ายที่ ส.ว. มีอำนาจตัดสินใจร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกฯ ได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2567 

 

ขณะนี้มี ส.ว. คนไหนที่แสดงจุดยืนโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยตามเสียงข้างมากของ ส.ส. บ้าง ทีม THE STANDARD รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

 


 

“ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

 

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจดหมายเปิดผนึก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่าฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่กับ ส.ว. คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีว่าจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่” 

 

เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566

 


 

“สานพลังสร้างไทย ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายจะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้”

 

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“ส่วนตัวก็งง เสียงเรียกร้องต่างๆ ที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้ก็เรียกร้องให้ปิดสวิตช์ ส.ว. แก้ไขมาตรา 272 ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตนก็เป็น 1 ใน 23 ส.ว. ที่ลงมติให้ปิดสวิตช์ ส.ว. แต่แพ้เสียงข้างมาก แต่มาล่าสุดกลับเรียกร้องให้ ส.ว. ใช้อำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ห้ามงดออกเสียง ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่” 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”

 

ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“ผมมีคำตอบที่ชัดสำหรับส่วนตัวว่าคงเป็นไปตามฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง เราต้องให้เกียรติพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ในการฟอร์มรัฐบาล ซึ่งเป็นมารยาททางการเมือง ด้วยเหตุนี้สำหรับผมจำเป็นต้องเอามารยาททางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับแบบสากลกลับมา เพื่อให้กลไกเดินหน้าไป”

 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“ฉันทานุมัติของประชาชน 14 ล้านคนเห็นด้วย แต่ 32 ล้านคนไม่เห็นด้วย แต่เสียงส่วนใหญ่เขาฉันทานุมัติมาแบบนี้ เราก็ต้องเห็นชอบครับ เปิดโอกาสให้เขาทำงาน” 

 

ทรงเดช เสมอคำ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566

 


 

“รับฟังเสียงของประชาชนแน่นอนครับ และพร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่มาจาก ส.ส. ที่รวมกันได้เกินกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืนต่อไป”

 

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

 


 

“แคนดิเดตนายกฯ ซึ่งปกติจะไม่เสนอชื่อคนเดียว แต่ถ้ามีคนเดียวแล้วเสนอพิธาก็ไม่ได้น่ารังเกียจ เพราะมาจากมติมหาชน ส.ส. เขตก็ได้มาก และ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะ รวมกันแล้วได้อันดับ 1 ก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งองค์ประกอบที่จะพิจารณาพรรคร่วมมีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ตรงนั้นน่าสนใจกว่า”

 

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566

 


 

“ส่วนตัวไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ซึ่งในฐานะเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน สว. ท่านอื่นก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้วก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า”

 

ประมาณ สว่างญาติ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566

 


 

“โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า 1. ใครรวมเสียง ส.ส. ได้ข้างมาก ก็โหวตให้คนนั้น 2. เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน 3. เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงครับ”

 

วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 17 พฤษภาคม 2566

 


 

“ผลการเลือกตั้งเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าพรรคก้าวไกลชนะถล่มทลายเพราะอะไร พรรครวมไทยสร้างชาติโดยนายกฯ ลุงตู่ทำอะไรต่างๆ มากมายให้ประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารปี 57 แต่ไม่สามารถได้ใจประชาชนแพ้การเลือกตั้งเพราะเหตุใด อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ต้องเคารพเสียงของประชาชนครับ”

 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 15 พฤษภาคม 2566

 

ส.ว. โหวตพิธา

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising