×

สว. รุมค้านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ไม่คุ้มเสีย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถามนายกฯ เอื้อนายทุนหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
25.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ในประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 

 

เฉลิมชัย เฟื่องคอน อภิปรายว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

เป็นนโยบายในการเลือกตั้งที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการแจกเงินให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

 

เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีประกาศทุกเวทีหาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศเช่นนั้นมีลักษณะสัญญาว่าจะให้ ซึ่งอาจผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรค (1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิ 20 ปี

 

เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาระบุว่า โครงการนี้จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในการแถลงนโยบายดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้ระบุถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ จะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 162 หรือไม่ 

 

จากนั้นมีการแถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะเริ่มเดือนพฤษภาคม พร้อมกับปัจจัยที่เปลี่ยนไปคือที่มาของงบประมาณ ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นการกู้เงิน รวมถึงเงื่อนไขการรับเงิน แต่จนถึงขณะนี้การดำเนินนโยบายก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากไหน หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ และนโยบายดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร

 

เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า การหาเสียงแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานของพรรคการเมือง หาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ป.ป.ช. จึงขอให้ กกต. ตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ ซึ่งหากขัดก็เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และ ครม. มีความโปร่งใส มีบรรทัดฐานถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวนตรวจสอบเรื่องนี้ หากเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้ดำเนินการตามนี้ ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย หากศาลฎีการับฟ้องต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากมีความผิดจริงต้องถูกเพิกถอนสิทธิ

 

เฉลิมชัยยังกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีการใช้งบประมาณมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทสำหรับสร้างระบบว่า มีใครจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ เป็นข้าราชการการเมืองกลุ่มใดหรือไม่ 

 

ขณะเดียวกันเฉลิมชัยยังตั้งคำถามถึงการขยายพื้นที่สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จากตอนแรกใช้จ่ายใน 4 กิโลเมตร เป็นการครอบคลุมทั้งอำเภอนั้น ร้านโชห่วยยังจะสามารถขายอะไรได้อีกหรือไม่ ซึ่งการขยายพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นการเอื้อนายทุนพรรคการเมืองหรือผู้ประกอบการหรืออย่างไร นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงให้ชัดเจน 

 

“หากทำไม่ได้ก็ยอมรับกับประชาชนเถอะ ดีกว่าไปเสี่ยงแล้วติดคุกหัวโต” เฉลิมชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

ได้ไม่คุ้มเสีย-ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

ขณะที่ สมชาย แสวงการ ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงสาเหตุที่ต้องมาอภิปรายรัฐบาลทั้งที่งบประมาณยังไม่ออกนั้น ก็ถือเป็นความผิดของตัวท่านเอง เพราะตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีมานานเกือบ 8 เดือน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดเก่าได้จัดทำงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว หากตนเป็นนายกรัฐมนตรี จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวต่อสภาทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขในสภา จะทำให้มีเม็ดเงินที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว ดังนั้นที่งบประมาณล่าช้าเป็นความผิดของ ครม. เอง 

 

“นายกรัฐมนตรีหมกมุ่นเรื่องนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย และผมวิงวอนมาตลอดว่าเลิกเถอะครับ อย่าดันทุรัง สภาแห่งนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งที่ 64 รัฐบาลรับฟัง นำไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ความมั่นคง มีรัฐบาลหนึ่งไม่ฟัง โครงการจำนำข้าว สุดท้ายรัฐมนตรีบางคนติดคุก นายกรัฐมนตรีหนีออกนอกประเทศ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เหมือนกัน ผมเตือนด้วยความหวังดี สว. อภิปรายทิ้งทวน เนื่องจาก 11 พฤษภาคมนี้ก็หมดเวลาของเราแล้ว” 

 

สมชายกล่าวอีกว่า การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสี่ยงผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนา ไม่พัฒนาอะไรเลย ใช้เพียงนโยบายประชานิยม แจกอย่างเดียว เพราะเราใช้นโยบายประชานิยมจนเคยชิน และไม่สร้างนวัตกรรมอะไรเลย สุดท้ายต้องกู้มาแจกเพราะหวังคะแนน 

 

ฉะนั้นท่านต้องดำเนินการ 2 ทางคือ หนึ่ง ออก พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งพวกตนก็รอคว่ำอยู่ แต่ท่านไม่ส่งมา ทำงบประมาณไม่ทัน ใส่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ก็ไม่ใส่ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากท่านบริหารจัดการประเทศไม่ถูกต้อง มันถึงเกิดการแจก เมื่อใช้หนี้ 5 ปีเศรษฐกิจจะวิกฤต หนี้สาธารณะจะขึ้นเป็น 67% 

 

“นโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลที่แล้วผมไม่ได้ออกมาชม ใช่ครับ รัฐบาลที่แล้วก็ใช้นโยบายของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลนี้ก็ควรใช้นโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ เศรษฐกิจจะได้เดินต่อไปหลังวิกฤตโควิด พอขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ไม่อยากได้ยินชื่อโครงการแม้กระทั่งแอปเป๋าตังของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ผมได้ยินกระทรวงการคลังบอกให้ฟัง ไม่อยากได้ยินชื่ออะไรที่มาจากรัฐบาลที่แล้ว ทั้งที่ครึ่งหนึ่งของรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีที่มาจากชุดที่แล้ว และชุดที่แล้วก็นำนโยบายดีๆ ของท่านมาใช้ 

 

“หลายที่ในโลกพัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย เพราะเขาพัฒนานวัตกรรมสร้างคน นำนวัตกรรมมาขายให้กับไทย นายกรัฐมนตรีไปขายแลนด์บริดจ์ ตนไม่ว่า แต่ EEC ที่สร้างในสมัย พล.อ. ประยุทธ์ ยังขายโครงการไม่ถึงครึ่ง ยังต่อรถไฟเชื่อม 3 สนามบินไม่ได้ ไม่ได้เสริมความรู้ทักษะใหม่ๆ ให้ประชาชนเลย ซึ่งในปี 2570 โลกจะเปลี่ยนทั้งหมดเป็น AI แต่เรายังไม่มีมาตรการรองรับ เราใช้แต่ภาครัฐทำ ซึ่งทำไม่ทัน ดังนั้นขอให้เลิกการกู้เงินมาแจก เพราะเป็นการทำลายประเทศ

 

“พอเลิกโครงการแล้วท่านไม่ต้องกลัวความเสี่ยงเรื่องติดคุกหรอกครับ ในเอกสารที่ผมเก็บรวบรวมไว้ทั้งหมด และพร้อมจะยื่นดำเนินคดีด้วย ถ้าท่านเดินต่อ ป.ป.ช. คณะกรรมการกฤษฎีกา รายงาน สตง. ผมเก็บรวบรวมไว้หมดแล้ว วันที่ผมพ้นตำแหน่งเมื่อไร ท่านยังเดินหน้าต่อ ผมจะไปยื่น ป.ป.ช. ดำเนินคดี” สมชายกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X