×

98 สว. ขอทำภารกิจส่งท้าย ยื่นซักฟอก ครม. เศรษฐา เปิดอภิปรายรัฐบาลในรอบ 11 ปี

22.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (22 มกราคม) ที่รัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมด้วย สว. เช่น สมชาย แสวงการ, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, เฉลิมชัย เฟื่องคอน, ว่าที่ ร.ต. วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี และ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 98 คน เข้ายื่นญัตติอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ยื่นต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะแกนนำ สว. คนสำคัญ ได้แถลงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า สว. จำนวน 98 คน ขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับเนื้อหาที่ต้องการชี้แจงนั้นเราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยืนยันว่าการยื่นอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะล้มรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ 7 ประเด็นที่เสนอตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลควรจะเริ่มดำเนินการในสิ่งที่รัฐบาลได้หาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้

 

เสรีกล่าวว่า หากถามว่าเหตุใดจึงเพิ่งมายื่นรัฐบาลชุดปัจจุบัน และไม่ใช่รัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ต่างกันเท่าไร พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นพรรคการเมืองเดิมจากรัฐบาลที่แล้ว และเราก็ไม่ได้ดูว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการยื่นอภิปรายครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญที่ สว. จะต้องทำ เชื่อว่าจะไม่ได้สร้างความเสียหาย แต่รัฐบาลกลับจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ

 

“เราจะพ้นหน้าที่แล้ว ในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือ คิดว่าวุฒิสภาจะได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน” เสรีกล่าว

 

เสรีกล่าวถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องยื่นนั้นมีเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เราน่าจะแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่ไปเสียเวลาอยู่กับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ทำได้ยาก มีอุปสรรคมาก เช่นเดียวกับเรื่องกระบวนการยุติธรรม หากรัฐบาลยังเลือกปฏิบัติ หาช่องทางเอื้อประโยชน์ จะเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องรอนาน

 

ขณะที่ประเด็นกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องเปิดอภิปรายในช่วงเวลาก่อนที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษหรือไม่นั้น เสรีระบุว่า ไม่ได้เน้นตัวบุคคล เน้นที่ตัวหลักการ ไม่ขึ้นอยู่กับเปิดอภิปรายก่อนหรือหลัง สำคัญอยู่ที่จะยึดหลักกระบวนการยุติธรรมให้เป็นจริงได้มากเพียงไร ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่ากฎหมายต้องใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน

 

เสรียังเผยว่า ตั้งใจขอกรอบเวลาในการอภิปราย 2 วัน ส่วนจำนวนผู้อภิปรายอยู่ที่สมาชิกจะแสดงความจำนงชัดเจนแค่ไหน แต่ปัจจุบันนี้ก็มีลงชื่อมาเยอะแล้ว

 

รอสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาประสาน ครม. เคาะวันอภิปราย

 

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการในการส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลที่ระบุมาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ และต้องประสานงานไปยัง ครม. ในการมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้นต้องให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไปประสานงานกับ ครม. ว่าประสงค์จะมาชี้แจงในเวลาใดและใช้เวลาเท่าไร ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องรายงานกลับมาที่ตนว่า ครม. มีความพร้อมหรือไม่ ดังนั้นกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่วันนี้

 

พรเพชรกล่าวปฏิเสธว่าการยื่นอภิปรายครั้งนี้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงทิ้งทวนก่อนหมดสมัยหรือไม่ แต่ตนเองคิดว่าการทำงานของ สว. เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และถ้าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายได้ก็ยังอยู่ในกรอบการดำเนินงานของรัฐสภา จึงไม่มีปัญหาอะไร

 

“จะโบแดงหรือโบขาวทุกคนก็จะตระหนักได้เอง ผมเข้าใจความประสงค์ของสมาชิกว่าต้องการทำให้เกิดประโยชน์” พรเพชรกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคาดว่าจะได้อภิปรายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ใช่หรือไม่ พรเพชรกล่าวว่า เท่าที่ฟังมาอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกอยากได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะดูให้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนขั้นตอนธุรการทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะจัดการให้ แต่เรื่องกรอบเวลา ตนกับผู้เสนอจะเป็นคนประสานงานกัน

 

7 ประเด็นเพื่อทางออกประเทศ

 

สำหรับ 7 ประเด็น สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 98 คนจะยื่นอภิปรายเพื่อหาทางออกของประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 

  1. ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน เช่น การสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม, สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน, การแก้หนี้นอกระบบที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง และการสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

  1. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนจะรับมืออย่างไร

 

  1. ปัญหาด้านพลังงาน เช่น การจัดการราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน, ปัญหากลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมือง ส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

  1. ปัญหาการศึกษาและสังคม เช่น การปฏิรูปการศึกษาผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู, การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

 

  1. ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว เช่น ปัญหาทุนจีนสีเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัฐบาล และมาตรการการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

 

  1. ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอธิบายการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

 

  1. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

 

สว. ยื่นซักฟอกรัฐบาลในรอบ 11 ปี

 

ข้อมูลจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่าที่ผ่านมาวุฒิสภาได้ใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเพียง 5 ครั้งเท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าตลอดการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 4 ปีที่ผ่านมา สว. ไม่ได้มีการยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปสักครั้งเดียว ทำให้การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ครั้งนี้เกิดขึ้นในรอบเกือบ 11 ปี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising