วันนี้ (18 พฤษภาคม) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน รวมรายชื่อเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว โดยมีรายงานว่า รายชื่อ สว. ส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภานั้น
ล่าสุด THE STANDARD ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่ามีเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมจริง แต่ในที่ประชุมไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สว. ทุกคนจะร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการอภิปรายแสดงความเห็นแย้งกันอย่างกว้างขวาง
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รับการทาบทามให้ลงชื่อเป็นคนแรก เหมือนครั้งที่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153
แต่เสรีไม่เห็นด้วย เพราะการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว และยังไม่เคยมีองค์กรไหนที่ชี้ว่า พิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติขัดต่อจริยธรรม เพราะองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยเรื่องการขัดจริยธรรมของนักการเมืองได้คือศาลฎีกา อีกทั้ง สว. ชุดปัจจุบันก็จะหมดวาระแล้ว หากความเป็น สว. สิ้นสุดลงก่อน ก็อาจจะมีปัญหาในการตีความทางกฎหมาย
ขณะที่ คำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายแสดงความเห็นว่า คำร้องที่เตรียมจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผล ยืดเยื้อ และไม่ตรงประเด็น หากดำเนินการต่อไปสังคมก็จะตำหนิเปล่าๆ และไม่เหมาะด้วยสถานการณ์ เพราะต้องยอมรับว่าความเป็น สว. ได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมแล้ว แม้จะยังทำหน้าที่เหมือนเดิมได้ แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
เช่นเดียวกับ เฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะทำแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายมาก ไปๆ มาๆ ใครที่ร่วมลงชื่ออาจโดนฟ้องกลับก็ได้ ขณะที่ วันชัย สอนศิริ สว. และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้แสดงความเห็นในที่ประชุม แต่ก็ไม่เห็นด้วยและไม่ได้ร่วมลงชื่อ โดยผู้ที่เป็นแกนนำในการรวบรวมรายชื่อก็ไม่ได้ประสานมา เพราะรู้จุดยืนของวันชัยดี
แหล่งข่าวเผยว่า ในที่ประชุมมีเพียง ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่ตอบโต้ว่าควรทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด หากพิชิตมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติจริงก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ ทำให้เสรีสรุปว่า การรวมรายชื่อให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สว. แต่ละคนที่จะดำเนินการ
ส่วน 40 สว. ที่ร่วมลงชื่อ เฉพาะในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ประกอบด้วย ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และ ว่าที่ ร.ต. วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ นอกจากนี้ส่วนใหญ่เป็น สว. ที่มีจุดยืนไม่เห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลเช่นกัน