×

สว. เตรียมรับเงินทุนเลี้ยงชีพ หลังว่างงานปี 67 หมดอำนาจเลือกนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2023
  • LOADING...
สว. เงินทุนเลี้ยงชีพ

เริ่มนับถอยหลังจากนี้ไปจนกระทั่งวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะหมดวาระลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 250 สว. ชุดเฉพาะกาลไว้ 5 ปี 

 

แต่ สว. ชุดนี้จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี สว. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่ง วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สว. ที่อยู่ เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272 ไม่ใช่การเลือกนายกฯ 

 

แม้การทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. จะสิ้นสุดลงไม่เกินวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นับจากวันที่มีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา แต่ถ้าเราย้อนดูจะพบว่า อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง แต่กลับเป็น 2 ครั้งที่ทำให้เป็นตัวแปรสำคัญให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่ได้เป็นรัฐบาลถึง 2 ครา

 

จนนำไปสู่คำถามที่ว่า สว. มีไว้ทำไม ซึ่งในห้วงโอกาสที่ สว. นับถอยหลังการทำหน้าที่ตามวาระ THE STANDARD ขอรวบรวมสิทธิประโยชน์ของ สว. ณ ขณะดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งก็ยังได้รับสิทธิพิเศษมาให้รับทราบ 

 

สว. เงินเดือนเท่าไร

 

จากหนังสือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556 ระบุ

เงินเดือนและค่าตอบแทน สว. ไว้ดังนี้

 

  • ประธานวุฒิสภา
    เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท
    เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท
    รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท 
  • รองประธานวุฒิสภา
    เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
    เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
    รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท 
  • สมาชิกวุฒิสภา
    เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
    เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท
    รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท  

 

นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาล ตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท

การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน

 

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน

  • ค่าห้องและค่าอาหาร  4,000 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง)
  • ค่าห้อง ICU/CCU 10,000 บาทต่อวัน (สูงสุด 7 วันต่อครั้ง) 
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาทต่อครั้ง 
  • ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 บาทต่อครั้ง
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ 1,000 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง) 
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค 4,000 บาทต่อครั้ง
  • การรักษาทันตกรรม 5,000 บาทต่อปี
  • การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท / คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท  

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 90,000 บาทต่อปี
  • อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน 20,000 บาทต่อครั้ง
     

สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม นอกจากนี้ สส. กับ สว. ยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น 

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท 
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท 
  • ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท

 

ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง สว. แต่รู้หรือไม่ เมื่อ สว. พ้นจากตำแหน่งยังมีสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 

 

เพจ LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยสิทธิประโยชน์ที่อดีต สว. จะได้ตามระเบียบว่า 

 

สำหรับผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบฯ ข้อ 29 ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ 27 มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยให้ได้รับเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ในส่วนของ สว. ที่มีวาระครบ 5 ปีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์คือ คำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตั้งแต่ 48 เดือน แต่ไม่ถึง 96 เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ 12,000 บาท 

 

และเงินกองทุนในส่วนนี้มีที่มาจากเงินทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ 

  • เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  • เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
  • เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2543
  • เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
  • เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค
  • ดอกผลของเงินกองทุน


ทั้งนี้รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X