×

ที่ประชุม ส.ว. มีมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย ที่ผ่าน ส.ส. ตั้ง กมธ. 25 คน ถกวาระ 2

โดย THE STANDARD TEAM
28.02.2022
  • LOADING...
วิบูลย์ บางท่าไม้

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เห็นชอบแล้วทั้ง 3 วาระ โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการพิจารณา ได้แก่ กมธ.กฎหมายการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา และ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

 

พล.ต.ท. วิบูลย์ บางท่าไม้ ในฐานะ กมธ.กฎหมายการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา รายงานผลการพิจารณาศึกษาว่า จากการพิจารณาเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นการยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล มีการกำหนดให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้สูญหาย เช่น ผู้แทนญาติ ทนายความ สามารถร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพได้ รวมถึงบทกำหนดโทษได้มีการกำหนดโทษให้หนักขึ้น ปรับการกระทำความผิดในขั้นทรมาน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในการพิจารณาของ ส.ส. ไม่มีการกำหนดลักษณะการกระทำทรมานที่ชัดเจน จึงควรกำหนดคำนิยามของการทรมานให้มีความชัดเจน เพื่อให้มีการตีความน้อยที่สุด

 

ด้าน สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ที่ปรึกษา กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็น ทั้งเป็นความก้าวหน้าต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหลักประกันการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากหน่วยงานของภาครัฐ การที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือได้ว่าจะเป็นการยกระดับการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ต่อประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนการมีบทบาทร่วมกับนานาประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ และนำบทบัญญัติของกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังสู่ประชาชน

 

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรได้รับการสนับสนุนและให้ความเห็นชอบ ซึ่ง กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ได้มีการศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยตั้งใจจะช่วยเร่งรัดให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

 

นอกจากนี้ สุวพันธ์ุยังเสนอแนะว่าในการทำงานของคณะกรรมการ ควรนำเอาระบบของศพนิรนามเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ดำเนินการโดยมีผู้แทนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ควรให้ความสำคัญเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ กมธ. เห็นว่าควรที่จะให้คณะกรรมการได้มีอำนาจรับเรื่องราวร้องทุกข์เรื่องของการตรวจสอบการกระทำให้สอดรับกับพันธกรณีตามหลักการของสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้มีพันธกรณี 

 

นอกจากนั้นควรจะให้ความสำคัญกับการเยียวยาร่างกายและจิตใจ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยา ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานด้วย ซึ่งสมควรให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 

 

ในการอภิปราย คำนูณ สิทธิสมาน แสดงความเห็นว่า ร่างดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอของ ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ร่างที่ผ่านความเห็นชอบ ครม. เห็นด้วยแล้วหรือไม่ แล้วเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว. คาดว่าน่าจะมีมุมมองที่แตกต่างในหลายประเด็น เช่น ที่มาคณะกรรมการสรรหา และประเด็นเรื่องอายุความของคดีในมาตรา 32 ที่เพิ่มขึ้นมาทั้งมาตรา และประเด็นการนิรโทษกรรม เป็นต้น 

 

คำนูณกล่าวอีกว่า ครม. จะเห็นด้วยกับร่างของ ครม. ตั้งแต่แรก หรือจะเห็นตามที่ผ่าน ส.ส. มา 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ส.ว. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเห็นด้วย 197 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาพิจารณา 15 วัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X