วันนี้ (28 มีนาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในชื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งฉบับในวาระที่ 3
ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และหากผ่านชั้นของวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ขั้นตอนการถกกฎหมายของ สว.
iLaw ระบุว่า เมื่อกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายถึงชั้นวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะต้องพิจารณาร่างกฎหมาย 3 วาระเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร คือ
วาระที่ 1 รับหลักการ
วาระที่ 2 ลงมติรายมาตรา
วาระที่ 3 เห็นชอบทั้งฉบับ
วุฒิสภาไม่มีอำนาจปัดตกหรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วหายไปได้ เมื่อ สว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้ 3 กรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม
กรณีเห็นชอบ: ถ้า สว. เห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมใน 3 วาระ ก็เท่ากับร่างกฎหมายผ่านสองสภา และเตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กรณีไม่เห็นชอบ: ถ้า สว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ยับยั้ง ร่างกฎหมายไว้ก่อน และส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินให้ลดเหลือ 10 วัน และหากสภาผู้แทนราษฎรนำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ สส. 251 คน (ถ้ามี สส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่าร่างฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กรณีให้แก้ไขเพิ่มเติม: ถ้า สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร และถ้า สส. เห็นชอบด้วย ก็นำไปสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ก็ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการฯ มีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน
เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้
สว. คาด ถกกฎหมายสมรสเท่าเทียมเร็วที่สุดต้นเดือนเมษายนนี้
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เคยกล่าวถึงความพร้อมของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า วุฒิสภาพร้อมพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันที่ 1-2 หรือ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566
คำนูณให้ความมั่นใจว่าจะสามารถพิจารณาพร้อมตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาพิจารณาต่อได้ทันอย่างแน่นอน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในช่วงการปิดสมัยประชุมมาพิจารณา ก่อนจะเสนอกลับมายังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ให้ทันก่อนที่ สว. ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายนี้ไม่ได้รับการพิจารณาจาก สว. ภายในอีก 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกพิจารณาอีกครั้งในการประชุมรัฐสภาสมัยถัดไปคือวันที่ 3 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้ หากสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยที่สามารถต่อสู้และผลักดันจนผ่านชั้นของสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นการยืนหยัดต่อความหลากหลายทางเพศของ LGBTQIA+
ดังนั้นประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และถือเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่ก้าวหน้าในระดับโลก รวมถึงกฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการสมรสในประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่