×

วุฒิสภาเริ่มถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เห็นต่างเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (30 กันยายน) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วาระ 2 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเปิดโอกาสให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิกผู้สงวนความเห็นได้อภิปราย

 

ลงมติเหมือนตามใบสั่ง ดูไม่งาม

 

นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายเป็นคนแรก โดยระบุว่า ความจริงตนเองควรอยู่บนบัลลังก์ร่วมแถลงรายงานกับกรรมาธิการ แต่ถึงตอนนี้ยังรู้สึกงงอยู่ว่าทำไมตนเองและกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลทั้ง 5 ท่าน จึงต้องลงมาอภิปรายคัดค้านมติของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ทั้งที่ในการประชุม 4 ครั้งแรก ทุกคนดูเหมือนจะยอมรับสนับสนุนประชามติตามแนวทางเสียงข้างมากชั้นเดียวตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา

 

นันทนาระบุว่า กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้คัดค้านคำแปรญัตติของ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ที่ให้กลับไปใช้แนวทางเสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่ในการประชุมครั้งต่อมา ประธานคณะกรรมาธิการกลับเสนอให้มีการทบทวนมติ และน่าอัศจรรย์ใจที่กรรมาธิการต่างก็สนับสนุนการกลับมติในมาตรา 13 ให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องให้มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

 

“ในวันที่ 24 กันยายน หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นจะเป็นเหตุให้มีการกลับมติในวันพุธที่ 25 กันยายน ในห้องกรรมาธิการหรือเปล่า การกลับมติโดยพร้อมเพรียงกัน 17 ต่อ 1 เสียง ซึ่งดิฉันเป็น 1 เสียงที่ยืนยันมติเดิม มันไม่งามนะคะ ชาวบ้านเขาจะนินทาว่าการลงมติครั้งนี้เป็นไปตามใบสั่ง” นันทนากล่าว

 

นันทนากล่าวว่า หากทางวุฒิสภาไม่เห็นชอบตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร จะถือเป็นการหน่วงเวลาให้ยืดเยื้อ ในที่สุดการทำประชามติไม่สามารถพ่วงไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ เราจะเสียงบประมาณไปอีกหลายพันล้านบาทในการทำประชามติ อีกทั้ง สว. ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมในการถ่วงเวลาและใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง จึงขอเรียกร้องให้ สว. แสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง ไม่ต้องเกรงอำนาจอิทธิพลใดๆ

 

“ท่านอย่าทำตัวเป็น สว. ความจำสั้น เพราะในวันที่ 17 สิงหาคม ในที่ประชุมสภาแห่งนี้ ท่านได้ลงมติรับร่าง พ.ร.บ. นี้ในวาระ 1 อย่างท่วมท้นถึง 179 เสียง หวังว่าท่านยังจำได้” นันทนากล่าว

 

5 เหตุผลไม่ควรใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

 

กฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยในสัดส่วนของรัฐบาล ได้อภิปรายยก 5 เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ประกอบด้วย

 

  1. หลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในประเทศที่มีหลายรัฐหรือเป็นสมาพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาสิทธิของรัฐที่มีประชากรน้อย แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว

 

  1. รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ผ่านการทำประชามติมาเมื่อปี 2559 ก็ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว แล้วเหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น

 

  1. ประเทศไทยมีการออกเสียงประชามติกันหลายครั้ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งนั้นก็ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว

 

  1. หลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น กำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ จะทำให้เกิดผลที่แปลก คืออาจทำให้เสียงข้างน้อยชนะเสียงข้างมากได้

 

  1. การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 กำหนดไว้ว่าต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง แม้มีเพียงครั้งใดครั้งหนึ่งที่การออกเสียงประชามติไม่สามารถผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นได้ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ผ่าน จะเกิดความสูญเปล่าทางงบประมาณ

 

หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกยื้อ

 

นิกร จำนง กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะจะเป็นการทำลายหัวใจสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้ และการลงมติของท่านในครั้งนี้จะทำให้มีปัญหาตามมา เพราะหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบตามสภาผู้แทนราษฎร ก็เชื่อว่า สส. ก็จะยืนยันตามร่างเดิมที่เห็นชอบไป และจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม แบ่งเป็น สส. และ สว. ฝ่ายละ 10 คน

 

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมาธิการร่วมหาข้อสรุปไม่ได้ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายจะถูกแขวนไว้ 6 เดือน แต่สภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้อำนาจในการยืนยันตามร่างกฎหมายเดิมด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และสามารถผ่านร่างนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภาอีกแล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น

 

นิกรยังมองว่าหากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป ก็เสี่ยงว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันภายในรัฐบาลนี้ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของทั้งรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลปัจจุบัน แต่ตนเองยังมีความหวัง เพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดี ถึงแม้วุฒิสภาจะลงมติตามที่แก้ไข ก็ยังพอมีเวลาอยู่ เพราะหากตั้งกรรมาธิการร่วมก็อาจจับมือกันหาทางออกในเรื่องนี้ให้เสร็จภายในเดือนนี้ได้

 

“ผมทำเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนมา 20 ปีแล้ว และจะทำต่อไปโดยที่มีความหวัง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครหรือพรรคไหน แต่อยู่ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในยุคสมัยของเราได้หรือไม่” นิกรกล่าวสรุป

 

เสียงข้างมากชั้นเดียวง่ายไป

 

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะผู้เสนอญัตติให้กลับไปใช้หลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น อภิปรายว่า การใช้หลักเสียงข้างมากชั้นเดียวหรือเสียงข้างมากธรรมดาจะทำให้การทำประชามติผ่านไปง่ายเกินไป โดยยกตัวอย่างว่า หากมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน แต่มาลงมติเพียง 4 คน และมีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบ 2 คน เท่ากับว่าประชามตินั้นผ่านไปเลย โดยใช้เสียงของคน 2 คนมาแทน 50 ล้านคน

 

พิสิษฐ์ยังได้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างของผู้ไม่เห็นด้วย เช่น กลัวไม่ทันการเลือกตั้ง อบจ. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 แต่ก็สามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2564 แทนได้ และข้ออ้างที่ว่าคนที่ไม่อยากให้ประชามติผ่าน ก็ไม่ต้องออกมาใช้สิทธิ แต่ตนเองมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้ทำประชามติต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X