วันนี้ (9 ตุลาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุม ในช่วงหนึ่งประธานได้แจ้งกับที่ประชุมว่า อัยการขออนุญาตออกหมายเรียกตัวสมาชิกสภาวุฒิสภาไปทำการสอบสวน ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ
ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขออนุญาตออกหมายเรียกตัว อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกสภาวุฒิสภา (สว.) ไปทำการสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในคดีว่าด้วยยาเสพติด โดยมาตรา 125 วรรค 1 บัญญัติว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือเรียกตัวสมาชิกไปสอบสวน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะทำความผิด ในการนี้จึงต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาโดยการลงมติ
อุปกิตกล่าวชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาถึงกรณีที่ตนเองถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และตนเองได้รับความทุกข์ทรมานมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี เนื่องจากบุคคลที่ตนเองรู้จักถูกจับกุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ตั้งแต่ตัวเองจะเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2562 ตัวเองได้ออกจากการเป็นกรรมการและหุ้นส่วนโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด
อุปกิตกล่าวต่อว่า ตลอด 15 ปีที่ได้ทำการซื้อขายไฟที่ด่านเมียนมา อำเภอท่าขี้เหล็ก ไม่เคยพบปัญหา จนกระทั่งปี 2563-2565 ที่มีสถานการณ์โควิด ทำให้ด่านชายแดนปิด ตุน มิน ลัต ได้เข้ามาทำการซื้อขายต่อ และโอนเงินผ่านระบบ Money Changers ซึ่งเป็นวิธีปกติในการซื้อขายชายแดน อย่างไรก็ตาม พนักงานสืบสวนนครบาลกลับเร่งกล่าวหาว่าเส้นทางการเงินที่โอนไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความเกี่ยวกับพันกับยาเสพติด ทั้งที่เป็นเพียงการโอนเงินชำระบิลค่าไฟ
อุปกิตกล่าวว่า รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ได้มีการอภิปรายตนเอง ‘เรื่อง สว. ทรงเอ’ ว่าเป็นการปรักปรำใส่ร้ายอย่างร้ายแรง มีพัวพันกับกระบวนการค้ายาเสพติด โดยหลักฐานที่มีการนำมาอภิปรายนั้นเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งสิ้น โดยนายตำรวจที่ส่งข้อมูลให้รังสิมันต์ ก็จงใจแปลงหลักฐานที่เป็นเท็จส่งให้กับศาล ในการออกหมายจับตนเอง
อุปกิตชี้ให้เห็นว่า รังสิมันต์พาดพิงอธิบดีและผู้พิพากษาให้เกิดความเสียหาย สะท้อนว่ามีความพยายามด้อยค่ากระบวนการยุติธรรมด้วย รวมถึงการออกหมายจับตนเอง ก็ไม่ชอบธรรม อะไรผิดระเบียบ ถ้าเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับตามอำเภอใจได้ ก็สามารถกลั่นแกล้งใครก็ได้ วันหนึ่งสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมนี้ก็สามารถโดนเหมือนตนเองได้
อุปกิตยังกล่าวว่า ในระหว่างสมัยประชุม ตนเองได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง แม้ตนเองประสงค์จะสละเอกสิทธิ์นี้ก็ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ที่ประชุมวุฒิสภาจะลงมติอนุญาตให้มีการออกหมายเรียกต่างๆ หรือไม่ และได้แสดงเจตนาว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมดสมัยประชุมในสิ้นเดือนนี้ เพราะไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์วุฒิสภาของพวกเราในทางที่เสียหาย
อุปกิตยังกล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตนเองมาจากตระกูลที่รับใช้แผ่นดินสามชั่วอายุคน ตนเองและครอบครัวตระหนักดีถึงบุญคุณแผ่นดิน ไม่มีวันที่ตนเองจะมาทำอะไรที่เลวร้ายตามที่เขาได้กล่าวหา โดยเข้าใจถึงเจตนาของมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง แม้ตนเองจะแสดงความประสงค์ จะขอสละความคุ้มครองนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องมีการลงมติของสมาชิกของวุฒิสมาชิกเพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการออกหมายเรียกดังกล่าวก่อน
อุปกิตยังกล่าวอีกว่า ตนเองพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมดสมัยประชุมในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เพราะตนเองไม่ต้องการมีการนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นให้แก่วุฒิสภาในทางที่เสียหายอีก และเพื่อเป็นการรักษาเกียรติของครอบครัว ตนเองพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ตนเองยังเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นที่จะได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด
“กราบเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกทุกท่าน ตัวกระผมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ตนเองยังเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำต้องได้รับความคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น” อุปกิตกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 174:7 เสียง ไม่อนุญาตให้มีการออกหมายเรียกตัว และส่งตัวอุปกิตไปทำการสอบสวน ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ระหว่างสมัยประชุม งดออกเสียง 10 เสียง ในจำนวนผู้ลงมติ 191 เสียง