เมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร มี นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธาน โดยได้เชิญ พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการตำรวจ กรณีตำรวจไม่มีคำสั่งแย้งอัยการที่ไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กรณีขับรถชนตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 2555
นิโรธเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กรรมาธิการตำรวจได้มีการสอบถามตำรวจในหลายกรณี ประกอบด้วยกรณีไม่สามารถเอาผิดข้อหาเมาแล้วขับวรยุทธ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุได้ทันที เพราะผู้ต้องหาขับรถหลบหนีเข้าบ้าน ตำรวจทำได้เพียงล้อมบ้านไว้ กว่าจะได้หมายศาลไปตรวจค้นบ้าน นำตัวผู้ต้องหาไปตรวจแอลกอฮอล์ก็เป็นเวลา 16.00 น. ซึ่งทิ้งเวลาจากตอนเกิดเหตุไปถึง 10 ชั่วโมง
โดยมีประเด็นทางข้อกฎหมายระบุว่า การจะนำตัวขึ้นสู่ศาลได้ ต้องมีการตรวจวัดทันทีหลังเกิดเหตุ จึงไม่สามารถเอาผิดเรื่องเมาแล้วขับได้ ส่วนเรื่องความเร็วรถยนต์นั้น ตำรวจให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการว่า มีหน่วยงานที่ตรวจสอบความเร็ว 3 หน่วย ได้แก่ 1. สำนักงานจราจร ใช้หลักฟิสิกส์ ดูหลักการปะทะว่าจะมีความเร็ว ความแรงแค่ไหน ผลออกมาในเบื้องต้นว่าน่าจะมีความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2. อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใช้หลักวิศวกรคำนวณจากกล้องวงจรปิด พบว่า ความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้หลักวิศวกร คำนวณจากกล้องวงจรปิดเช่นกัน พบความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ดังนั้นเมื่อข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญความเร็วมีความต่างกัน อัยการจึงเชิญกองพิสูจน์หลักฐานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ข้อมูลอีกครั้ง ทั้งสองหน่วยงานยอมรับว่า น่าจะคำนวณความเร็วผิดพลาด เพราะไม่ได้หักลบจากค่าเลนส์ที่กล้อง ทำให้อัยการมีความเห็นว่าควรไปหาประจักษ์พยานเพิ่มเติม เป็นเหตุให้มีพยานมาเพิ่มอีก 2 ปาก คือ 1. จารุชาติ มาดทอง ซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในสำนวนแต่แรกอยู่แล้ว และได้ยืนยันว่า ผู้ต้องหาขับรถไม่น่าจะเร็ว และ 2. พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ซึ่งเป็นพยานที่อัยการขอให้ตำรวจไปสอบเพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายผู้ต้องหาเคยขอให้ตำรวจสอบปากคำพยานรายนี้ แต่ตำรวจบอกว่าทำสำนวนเสร็จสิ้นแล้ว ถ้าจะให้สอบเพิ่มเติมต้องไปร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการ เพื่อให้มีคำสั่งให้ตำรวจสั่งสอบพยานรายนี้เพิ่มเติม ในที่สุดอัยการก็สั่งให้มีการสอบปากคำพยานรายนี้เพิ่มเติม จนกลายเป็นประเด็นข่าวอย่างที่ออกมา
ทั้งนี้กรรมาธิการตำรวจมองว่า คดีนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ไม่น่าจะชอบธรรม จึงได้ตั้งข้อสังเกตไปยังตำรวจให้มีการตรวจสอบรายละเอียดที่ขาดตกบกพร่องอยู่ โดยช่องโหว่ที่กรรมาธิการพบคือ การตั้ง 5 ข้อหาแต่ละข้อต่างกัน เมื่อไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีได้ทัน เพราะหลบหนีไปต่างประเทศ ทำให้บางข้อหาหมดอายุความลงไป ถือเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย
ด้าน ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษกคณะกรรมาธิการตำรวจ และ ส.ส. สงขลา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องสารเสพติดโคเคนที่พบในตัวผู้ต้องหา ทางพนักงานสอบสวนให้การว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟันว่าสารที่ตรวจพบในร่างกายวรยุทธเป็นยาที่ให้กับผู้ต้องหาในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ เป็นเหตุให้ไม่มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาของสารเสพติด เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ต้องหาได้ทำการรักษาฟันในช่วงเวลาใด ณัฏฐ์ชนนกล่าวว่า ทางทันตแพทย์ไม่ได้มีการระบุช่วงเวลาที่ผู้ต้องหาทำการรักษาฟันแต่อย่างใด
สำหรับช่องทางในการรื้อฟื้นคดีใหม่นั้น เราทราบมาว่าทางผู้ตายมีภรรยา แต่ได้หย่า ไม่มีบุตร มีเพียงญาติพี่น้องที่ดูน่าจะเกี่ยวข้อง 5 คน ซึ่งตอนแรกมีการตกลงจะให้ค่าเยียวยา 6 ล้านบาท ต่อมามีการต่อรองเหลือเพียง 3 ล้านบาทนั้น ต้องไปดูด้วยว่ามีการถูกขู่บังคับอะไรในการไม่ให้ติดใจเอาความหรือไม่ หลังจากนี้เราจะไปพบญาติเพื่อไปสอบถามว่ายังติดใจในคดีหรือไม่ พร้อมทั้งจะบอกถึงช่องทางในการรื้อฟื้นคดีได้ ถ้ามีหลักฐานใหม่
ส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในตัวผู้ต้องหาหลังก่อเหตุไปแล้ว 10 ชั่วโมง ที่ยังมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 60 มิลลิกรัม ทางตำรวจชี้แจงว่า ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ได้ขับรถระหว่างเมาสุรา แต่ที่ตรวจพบเป็นการดื่มหลังจากเกิดเหตุแล้ว เนื่องจากเพราะมีความเครียด อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ยังติดใจช่วงเวลาที่ห่างกัน 10 ชั่วโมง ผู้ต้องหาไปกินอาหารหรืออะไรบางอย่างเพื่อให้ปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงหรือไม่
สาเหตุที่ทางตำรวจยอมให้ข้อมูลกระจ่างชัด ทั้งที่เป็นชุดเดิมจากการที่มาชี้แจงในกรรมาธิการกฎหมายฯ เนื่องจากครั้งนี้ได้เชิญเพียงฝ่ายตำรวจมาให้ข้อมูล ไม่ได้เชิญอัยการมาด้วย รวมทั้งการให้ข้อมูลเพียงเฉพาะกรรมาธิการเท่านั้น โดยที่ไม่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟังด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า