×

เปิดเอกสารลับ กกต. ตอบกลับ DSI ยังไม่เสนอเรื่องต่อที่ประชุม คดีฮั้วเลือก สว. ปี 67

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2025
  • LOADING...
เอกสารลับ DSI เปิดเผยกระบวนการฮั้วเลือก สว. 2567 พบจ่ายเงินตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ขณะที่ กกต.ยังไม่เสนอเรื่องต่อที่ประชุม

วานนี้ (21 กุมภาพันธ์) มีรายงานว่า มีการเปิดเผยเอกสารลับที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อแจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน กรณีข้อกล่าวหาการฮั้วกันในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน โดยระบุถึงหนังสือที่สำนักงาน กกต. ส่งมาก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องที่ DSI รับไว้ดำเนินการ และขั้นตอนปัจจุบันของการสืบสวน

 

DSI เผยคดีฮั้วเลือก สว. 3 กรณีหลัก

 
DSI รายงานว่า มีการร้องเรียน 3 กรณีหลัก ได้แก่
 
  1. กรณี พล.ต.ต. … ร้องเรียนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 กรณีการคัดเลือก สว. จังหวัดปทุมธานี ที่มีพฤติการณ์ไม่ชอบธรรม และต่อมามีการร้องเรียนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 (คำร้องที่ 1099/2567)
  2. กรณี ภัทรพงษ์ … ร้องเรียนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ให้ตรวจสอบการเลือกตั้ง สว. ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ที่พบข้อพิรุธในกระบวนการเลือก (คำร้องที่ 1193/2567)
  3. กรณี ทินกร … ร้องเรียนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 18 รวมถึงคัดค้านการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (คำร้องที่ 1268/2567 และ 1269/2567)
 

พฤติการณ์ฮั้วเลือก สว. พบเครือข่ายซับซ้อน

 
จากการสืบสวนของ DSI พบว่า มีขบวนการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง สว. โดยมีการวางแผนที่ซับซ้อน ใช้ระบบโควตาสมัครกลุ่มละ 5 คน ในระดับอำเภอ รวม 100 คนต่อจังหวัด ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มขบวนการ ในบางกรณีพบว่ามีการจ่ายค่าตอบแทนระดับอำเภอ 5,000 บาท ระดับจังหวัด 10,000 บาท และระดับประเทศ 40,000-100,000 บาท หากได้รับเลือกมากกว่า 120 คน จะได้รับเพิ่ม 100,000 บาท
 
 
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ขบวนการได้ประชุมกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก เพื่อตกลงเงื่อนไขต่างๆ และจ่ายเงินมัดจำให้ผู้สมัคร สว. เป็นจำนวน 20,000 บาท โดยที่เหลือจะได้รับภายหลังจาก กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ขบวนการดังกล่าวได้แจกเสื้อสีเหลืองให้กับผู้สมัคร สว. และจัดรถตู้รับส่งไปเลือกตั้งที่เมืองทองธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งเป็นไปตามโพยที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า
 

DSI เสนอให้รับคดีเป็นคดีพิเศษ

 
DSI ระบุว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยลักษณะการกระทำผิดมีความเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีดูแลการคำนวณคะแนน และมีการเตรียมบุคคลที่เรียกว่า ‘พลีชีพ’ เพื่อให้การลงคะแนนเป็นไปตามแผน จึงเสนอให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
 

กกต. ตอบกลับ ยังไม่พิจารณาเสนอคดีต่อที่ประชุม

 

สำนักงาน กกต. ตอบกลับ DSI เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 โดยระบุว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณารับเรื่องไว้หรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560

 

สำหรับมาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising