วานนี้ (5 กรกฎาคม) มีรายงานความเคลื่อนไหวในฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ตามที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานรัฐสภามีดำริให้สำนักงานเลขาธิการทั้ง 2 สำนักได้ออกหนังสือนัดประชุมนั้น
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา ครั้งที่ 11/2566 ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภานั้น ได้มี ส.ว. หยิบยกขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีขึ้นหารือต่อที่ประชุม 2 ประเด็นสืบเนื่องกัน ประกอบด้วย
- การโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้กี่ครั้ง ในกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 376 เสียงในรอบแรก จะยังมีคุณสมบัติในที่ประชุมรัฐสภาเสนอชื่อในรอบที่สองหรือไม่
โดยมีการยกกรณีการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของวุฒิสภา ที่หากไม่ได้รับความเห็นชอบจะไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่การพิจารณาอีกขึ้นมาเทียบเคียง
- หากกรณีที่ 1 ไม่เป็นเงื่อนไขในการเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 ครั้ง การนัดประชุมรัฐสภาควรดำเนินการอย่างไร ซึ่ง ส.ว. ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติถี่ๆ ติดๆ กัน โดยมีผู้เสนอให้ควรเว้นระยะเวลาการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 2 สัปดาห์ กรณีไม่ได้ข้อยุติในรอบแรก เนื่องจากวุฒิสภาก็มีภารกิจของตนเอง และที่สำคัญจะต้องมีความรอบคอบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้พรเพชร ในฐานะรองประธานรัฐสภาไปหารือกับวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานรัฐสภาถึงเหตุผลดังกล่าว และมอบให้ ส.ว. ในฐานะผู้แทนวิป 3 ฝ่าย ไปหารือร่วมกับผู้แทน ส.ส. และรัฐบาล ต่อแนวทางการเว้นระยะเวลาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีข้างต้นด้วย
มีรายงานข่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยที่ประชุมรัฐสภา ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาเอาไว้ แต่บทสรุปต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่อาจล่าช้าออกไป