วันนี้ (23 มิถุนายน) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีแถลงข่าวข้อสังเกตการณ์ เลือก สว. 67 ในหัวข้อ ‘วุฒิสภา-ประชามติ-รัฐธรรมนูญ’
ในช่วงหนึ่ง เมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การเลือก สว. ครั้งนี้มีการฮั้วกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกคือพรรคการเมืองใหญ่ทางเหนือ ส่งคนลงเพื่อเป็นประธานวุฒิสภา และให้ สส. ระดมกำลังส่งหัวคะแนนลงทุกกลุ่มทุกอำเภอ กลุ่มสองพรรคการเมืองใหญ่ทางอีสานก็ส่งหัวคะแนนลงแทบทุกอำเภอ ทุกจังหวัดที่มี สส. อยู่ ซึ่งหลายคนมีประสบการณ์ไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่ลง เป็นการส่งคนสมัครโดยขาดเจตจำนงและประสบการณ์
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจ่ายเงินให้ลงสมัคร ซึ่งหากต้องส่งคนลงทุกกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน คนละ 5 พันบาท ก็จะใช้เงินเพียงแค่ 3 แสนบาท ถ้าจังหวัดหนึ่งมี 10 อำเภอก็ใช้เงินเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงมีการใช้กลไกมหาดไทย และ อสม. สนับสนุนการเลือก สว. ครั้งนี้ให้เป็นไปตามแผน กลุ่มที่ 3 คือพรรคทางใต้ มีข้อกล่าวหาว่ามีการพยายามลงทุนจังหวัดละ 8 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มอิสระและภาคประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปัดตกเพราะไม่มีคะแนนจัดตั้ง
ด้าน วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า กกต. ทำตามธงของใครหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่ามีธงแน่นอน ธงบอกว่าวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ต้องจบ เพื่อยกเลิก สว. ชุดป่ารอยต่อ โดยการส่งอดีตนายกฯ ลดชั้นลงมาเพื่อสมัคร สว. เรื่องนี้ชัดเจนเพื่อกินรวบ สว. ชุดใหม่ทั้งหมด
กกต. พบ 4 รูปแบบทุจริตเลือก สว. ระดับประเทศ
ในวันเดียวกัน แหล่งข่าวจาก กกต. เผยว่า สำนักงาน กกต. พบความเคลื่อนไหวการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเลือก สว. ซึ่งจะมีการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยพฤติการณ์ที่พบแบ่งเป็น 4 รูปแบบคือ
- ผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัด มีการต่อรองขอตำแหน่ง หรือเรียกรับผลประโยชน์หลักแสนบาท แลกกับการลงคะแนนให้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับประเทศ
- การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่หนุนหลังผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัด พยายามเก็บตกผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัดรายอื่น เพื่อให้กลุ่มของตนเองมีผู้มีสิทธิเลือกมากที่สุด
- พบมีคนกลางจองห้องพักโรงแรมบริเวณใกล้สถานที่เลือก และนัดรวมตัวกันก่อนวันเลือก เพื่อล็อบบี้และเช็กคะแนนเสียง โดยนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ไปเรียกรับประโยชน์หลักล้านบาท เพื่อแลกกับการลงคะแนนสนับสนุน
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการติดต่อไปยังผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัดในพื้นที่ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มาอยู่กลุ่มตนโดยอ้างว่าจะสนับสนุนให้เป็น สว.
ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่พบกระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่จะพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสำนักงาน กกต. ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวนแต่ละจังหวัด และชุดเคลื่อนที่เร็ว ประกบติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สมัครอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ กกต. ทราบ