ตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ซึ่งเป็นวันที่สองที่เปิดให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งเข้ามารายงานตัวเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โดยยอดรวมสองวันมีผู้มารายงานตัวเป็น ส.ว. แล้วจำนวน 133 คน โดยแบ่งเป็นวันแรก 4 คน วันที่สอง 109 คน
สำหรับบรรยากาศในวันนี้เป็นไปอย่างคึกคักตลอดช่วงเช้า เนื่องจากมีคนดังคนเดิมที่เคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และอดีต สปท.-สปช. ทยอยเดินทางมารายงานตัว รวมทั้งผู้นำเหล่าทัพที่ รธน. กำหนดให้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันก็ได้เข้ามารายงานตัวแล้วเช่นกัน
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อของ ส.ว. ว่า “เชื่อเหลือเกินว่าคนที่เป็น ส.ว. นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องฟังอย่างรอบด้านแล้วก็ตัดสินใจว่าใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ส.ว. จะตัดสินใจไปตามความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ว่า ส.ว. ชุดนี้เข้ามาในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นต้องเข้ามาช่วยกันประคับประคองถ่วงดุลระหว่างการเลือกตั้งกับฝ่ายความมั่นคงให้เกิดความพอดี เพื่อให้ประชาธิปไตยขับเคลื่อนไปในระยะเปลี่ยนผ่าน และต้องทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ เร่งรัด ติดตาม ตรวจสอบ ดังนั้นผมเชื่อว่า ส.ว. ชุดนี้จะทำภารกิจการปฏิรูปสำเร็จและเป็นมรรคเป็นผล
“ผมเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตยที่มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ มาจากเลือกตั้งก็มีคนวิพากษ์วิจาณ์ มาจาก คสช. ก็โดน ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์การทำงานของ ส.ว. การวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ”
ด้านเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ว่า ส.ว. ต้องยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วนจะโหวตเลือกพลเอก ประยุทธ์ หรือไม่นั้น เห็นว่า ส.ว. ทุกคนมีอิสระ ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง การเลือกพลเอก ประยุทธ์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่ใช่การโหวตเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน แต่เป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ แม้ คสช. จะคัดเลือก ส.ว. มาก็ตาม ดังนั้นวันนี้ต้องเลิกพูดได้แล้วว่า ส.ว. เข้ามาสืบทอดอำนาจเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่บางพรรคการเมืองเสนอให้ ส.ว. ไม่โหวตให้พลเอก ประยุทธ์นั้น มองว่าเป็นความพยายามแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ส.ว. ทั้งที่บทบาทของแต่ละสภา รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนแยก 2 สภาออกจากกัน หาก ส.ว. ทำตามที่ ส.ส. เสนอก็จะขัดรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ส.ส. ไม่ต้องมาสั่งว่าจะต้องเลือกใคร เพราะสภาใครสภามัน
ด้านพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช. กล่าวภายหลังการรายงานตัวเป็น ส.ว. ว่า มีความพร้อมในการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป หากได้รับความไว้วางใจในที่ประชุม โดยหน้าที่ของ ส.ว. นี้ถือว่ามีความแตกต่างจากการเป็น สนช. พอสมควร เพราะนอกจากจะตรวจสอบกฎหมายให้มีความรัดกุมมากขึ้นแล้ว ยังต้องติดตามแผนปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม พรเพชรยังได้กล่าวถึงกรณีพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ว่าที่ ส.ว. ถึงข้อวิจารณ์ต่างๆ ในการทำหน้าที่ขณะเป็น สนช. โดยยืนยันว่าในช่วงที่พลเอก ปรีชา เป็น สนช. นั้น ได้มีการเข้าประชุม 341 ครั้ง จาก 387 ครั้ง มีการลา 46 ครั้ง ส่วนการลงมตินั้นได้มีการลงมติทั้งสิ้น 5,097 ครั้ง จาก 7,085 ครั้ง จึงถือว่าไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่ ดังนั้นการมาเป็น ส.ว. ก็เชื่อว่าพลเอก ปรีชา เองนั้นจะทำหน้าที่ได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม พรเพชรไม่ขอตอบประเด็นพลเอก ปรีชา มีฐานะเป็นน้องของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมาเป็น ส.ว. มีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ยืนยันการออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว ไม่ใช่เพราะมีใครสั่งให้ชี้แจง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์