วันนี้ (27 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภา ที่มี พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน ซึ่งประชุมนัดสุดท้ายเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะจัดทำรายงานเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนัดสุดท้าย พบว่ากรรมาธิการพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างกฎหมายในมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 13 การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติตามมาตรา 9 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
“การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติตามมาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
กล่าวคือ กรรมาธิการแก้ไขให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ ‘เสียงข้างมากสองชั้น’ (Double Majority) สวนทางกับที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติแก้ไขมาแล้วก่อนหน้านี้ให้เป็นแบบ ‘เสียงข้างมากปกติ’ คือเสียงของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิต้องเป็นเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะกรรมาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการลงมติดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมนัดที่ผ่านมามีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในนัดสุดท้ายกลับมีการทบทวนมติด้วยคะแนนเสียงเกือบเอกฉันท์คือ 17 ต่อ 1 เสียง ซึ่งเสียงข้างน้อยก็คือตนเองที่ต้องการให้คงเสียงข้างมากแบบปกติไว้
“การกลับมติเช่นนี้เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้มีการกลับมติค่อนข้างหนักหน่วง ซึ่งเข้าใจว่าการทำ พ.ร.บ.ประชามติ หากมีเสียงค้านของ สว. ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทันกับช่วงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ อบจ. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568” นันทนากล่าว
นันทนายังประเมินว่า เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเกมยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไม่ทันสภาชุดนี้ เพราะทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไป เนื่องจากหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขจาก สส. ก็จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อหาข้อสรุปกันอีกครั้ง โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 60 วัน ในการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งจะเลยจากกำหนดเวลาไปอีก
ทั้งนี้ นันทนายังให้ความเห็นด้วยว่า คงระบุเฉพาะเจาะจงไม่ได้ว่ามีพรรคการเมืองใดมีแนวโน้มที่ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญได้ทันในสมัยนี้ และคาดว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา เสียงข้างมากก็น่าจะลงมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการของ สว. แก้ไขไว้