วันนี้ (26 ธันวาคม) ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี พล.อ. อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ด้วยวิธีการประชุมลับ ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลของ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทน ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565
สำหรับกระบวนการก่อนคณะกรรมการสรรหาฯ จะคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวนั้น เริ่มจากการเปิดรับสมัครเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้สมัคร 1 ราย จากนั้นสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ส่งรายชื่อผู้สมัครไปยัง 19 หน่วยงาน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และส่งให้ 19 หน่วยงาน ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ รวมทั้งมีหนังสือส่งไปยังสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่วนราชการ สถาบันอุดมศึกษา และสื่อมวลชน ขอให้ประชาสัมพันธ์การตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 8 (3) กำหนดต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานวิชาการเป็นที่ประจักษ์ พร้อมกับเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม ผู้สมัคร มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเข้ารับการสัมภาษณ์
ทั้งนี้ เมื่อวุฒิสภาประชุมลับพิจารณารายงานดังกล่าวแล้ว มีมติด้วยเสียง 200 เสียง ให้ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง ซึ่งผลคะแนนได้รับความเห็นชอบดังกล่าวไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 125 เสียง จึงถือว่าเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ปัจจุบันอายุ 63 ปี จบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายอาญา จากมหาวิทยาลัย Nancy II สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนและภาควิชากฎหมายวิธีสบัญญัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น กรรมการพัฒนาบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กรรมการวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กรรมการกฤษฎีกา