×

ส.ว. ยื้ออีก 30 วัน ยังไม่โหวตเห็นชอบหรือไม่ ตามที่ ส.ส. เสนอให้ทำประชามติแก้ รธน. พร้อมเลือกตั้ง ขอศึกษาก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
21.11.2022
  • LOADING...
สมาชิกวุฒิสภา

วันนี้ (21 พฤศจิกายน) การประชุมวุฒิสภา โดยมีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในญัตติด่วนของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติเห็นชอบส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมเปิดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เริ่มอภิปรายในประเด็นดังกล่าว 

 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นสมควรที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพราะมองว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี หากทำวันเดียวกับวันเลือกตั้งประชาชนอาจจะสับสน และเป็นข้ออ้างของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดในการใช้หาเสียง หรือเป็นข้ออ้างในการแก้รัฐธรรมนูญ ซี่งตนไม่อยากให้เป็นเรื่องการหาผลประโยชน์ของพรรคการเมือง แต่ถ้าหากจะแก้ รธน. และจะทำประชามติ ตนเสนอให้ทำประชามติหลังการเลือกตั้ง และรัฐบาลต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้เสร็จคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จัดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งโดยอ้างว่าจะประหยัดงบประมาณนั้น ไม่น่าจะใช่ เพราะในการจัดทำประชามติเป็นการลงทุนในระบอบประชาธิปไตยที่คุ้มค่า ถ้าหากทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชน 

 

ด้านดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายตั้งข้อสงสัยที่ต้องการความชัดเจนในการทำประชามติ ที่เมื่อถามแล้วประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วหลังจากลงประชามติจะดำเนินการอย่างไร เข้าสู่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญการทำประชามติเป็นการถามความเห็นต่อประชาชน จำเป็นมากๆ ที่จะต้องให้เกิดความเข้าใจ ประชาชนอ่านแล้วต้องชัดเจนว่าจะถามอะไร จะแก้อะไร จะให้ใครแก้ แก้อย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร ต้องถามประชาชนให้ชัดหรือไม่ ตนคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและรอบคอบ การตั้งคำถามจึงเป็นส่วนสำคัญที่ประชาชนจะเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ใช่คำถามชี้นำ คำถามเป็นกระแส หรือเป็นคำถามไม่รอบคอบในประเด็นที่จะไปดำเนินการต่อ 

 

ขณะที่วันชัย สอนศิริ อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยและสนับสนุนให้วุฒิสภามีมติเห็นชอบต่อญัตติดังกล่าว ไม่ควรจะประวิงเวลาให้ล่าช้า เพราะมีแต่เสียกับเสีย การมีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวจะมีแต่ได้กับได้กับองค์กรวุฒิสภา ถ้าไม่เห็นชอบ ส.ว. จะรับเผือกร้อนไว้ ปิดกั้นความต้องการของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นเมื่อผ่านรัฐสภาไปแล้วเชื่อว่าจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่วาระของ ครม. ซึ่งถ้า ครม. มติเห็นชอบด้วย จะใช้เวลาจัดทำรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน ซึ่งไม่ทันต่อการพิจารณาตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีชุดนี้แน่นอน การที่คัดค้านหรือประวิงเวลาให้ล่าช้า ส.ว. จะเสียโอกาสในการร่วมแก้ไข เพราะ ส.ว. จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ถ้าไม่ร่วมมือกันจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้เสร็จทันสมัย ส.ว. ชุดนี้แน่นอน  

 

ด้านสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ญัตติของสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งมาให้พิจารณานั้นยังคงขาดเหตุผลและรายละเอียดที่เพียงพอต่อการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ ส.ว. ตนจึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาศึกษาเพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว ก่อนที่จะให้ ส.ว. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

จากนั้น พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จึงได้ให้ลงมติโหวตว่าต้องการให้ตั้ง กมธ. สามัญหรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

 

จากนั้นมีการเสนอรายชื่อกรรมาธิการ 26 คน โดยใช้เวลาศึกษาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรลงมติเกี่ยวกับญัตติด่วนด้วยวาจาของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้จัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อถามประชาชนว่า ‘เห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’

 

โดยผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุม เห็นด้วย 323 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 7 เสียง ดังนั้นเป็นอันว่าที่ประชุมเห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าว เพื่อส่งเป็นข้อเสนอแนะไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องส่งไปให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X