×

นับถอยหลัง ‘250 สว.’ ชุด คสช. แต่งตั้งเตรียมหมดวาระ ย้อนวีรกรรม 5 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2024
  • LOADING...
250 สว.

นับจากวันนี้ (9 เมษายน) ไปอีกเพียง 32 วัน วุฒิสภาชุดพิเศษ หรือ 250 สว. ที่ถูกคัดเลือกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะหมดวาระลงตามกฎหมาย โดยหลังจากการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้ายของสมัยประชุมนี้สิ้นสุดลงในวันนี้ ก็เรียกได้ว่าเข้าสู่โหมด ‘นับถอยหลัง’ กันอย่างจริงจัง

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาวุฒิสภาชุดนี้ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการปรับแปลงรูปโฉมของการเมืองไทย เป็นเหตุให้หลายฝ่ายถึงขั้นกล่าวหาว่าเป็นนั่งร้านสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช. เลยทีเดียว 

 

THE STANDARD เรียบเรียงมาให้ดูว่า สว. ชุดนี้มีผลงานสำคัญใดบ้างภายในระยะเวลา 5 ปีที่ทำหน้าที่มา

 

ครั้งแรกการเมืองไทย สว. โหวตนายกฯ

 

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการมอบอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับวุฒิสภา ซึ่งแม้จะจำกัดหน้าที่นี้ไว้เพียงใน 5 ปีแรกหลังมีรัฐสภา และ สว. ชุดปัจจุบันจะใช้อำนาจนี้ไปเพียง 2 ครั้ง แต่ก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองไว้อย่างไม่น่าเชื่อ ประกอบด้วย

 

ครั้งที่ 1: หลังการเลือกตั้งปี 2562 สว. ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เอาชนะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. แม้แต่คนเดียว ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แต่ไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สส. ได้ ต้องตกไปเป็นฝ่ายค้าน

 

ครั้งที่ 2: ผ่านไปกว่า 4 ปี หลังการเลือกตั้งปี 2566 วุฒิสภาก็ได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง แม้ว่าคราวนี้พรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จะสามารถรวมเสียง สส. ได้ถึง 310 เสียงแล้ว แต่กลับ ‘ตกรอบ’ เนื่องจาก สว. ส่วนใหญ่งดออกเสียงให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก่อนที่ในครั้งถัดมาจะมี สว. โหวตเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี 152 เสียง

 

กลั่นกรอง (สกัดกั้น?) ร่างกฎหมาย

 

หน้าที่สำคัญของวุฒิสภาอีกประการหนึ่งคือ การกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรให้มีความรัดกุมรอบคอบ อย่างไรก็ตาม iLaw ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้จากการรวบรวมข้อมูลว่า สว. ชุดพิเศษนี้มีการลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึง 98% โดยเฉลี่ย ในระหว่างยุคของรัฐบาลประยุทธ์

 

ข้อมูลจาก iLaw ยังชี้ว่า หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล สว. ก็จะลงมติเห็นชอบอย่างท่วมท้น แม้บางฉบับจะมี สส. เห็นชอบไม่ถึง 60% ก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หากกฎหมายใดที่เสนอมาโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สว. ก็มีแนวโน้มที่จะลงมติไม่เห็นชอบอย่างท่วมท้นเช่นกัน

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจดจำคือ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบญัตติขอให้รัฐบาลดำเนินการออกเสียงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมกันเสนอ แม้ญัตติดังกล่าวจะได้รับเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ทั้งจากพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล

 

สแกน ‘องค์กรอิสระ’

 

อำนาจอีกส่วนของ สว. ที่หลายคนอาจยังไม่รู้หรือมองข้ามไปคือ อำนาจพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ใน ‘องค์กรอิสระ’ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม อำนาจดังกล่าวของ สว. มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสเท่าที่ควร เนื่องจากในการประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแต่ละครั้งจะต้องประชุมเป็นการลับ และไม่เคยมีการเปิดเผยบันทึกการประชุมใดๆ ซ้ำบ่อยครั้งที่ประชุมยังมีมติ ‘ปัดตก’ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นก็ผ่านกระบวนการคัดกรองตามกฎหมายมาแล้ว

 

ได้รักษาการต่อรอ สว. ชุดใหม่

 

ถึงแม้ สว. ชุดพิเศษใกล้จะหมดวาระตามสภาพของกฎหมายเต็มที แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 64 วัน และมีแนวโน้มว่าจะล่าช้า เนื่องด้วยกติกาการคัดเลือก ‘ที่ซับซ้อนที่สุดในโลก’ ทำให้ระหว่างระยะเวลาสุญญากาศนั้น สว. ชุดนี้ก็ยังต้องทำหน้าที่ ‘รักษาการ’ ต่อไปก่อน แม้จะไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม

 

นอกจากนี้ หลังจาก สว. ชุดนี้ว่างงานลง ก็ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคือ เงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยให้ได้รับเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ในส่วนของ สว. ที่มีวาระครบ 5 ปีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์คือ คำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตั้งแต่ 48 เดือน แต่ไม่ถึง 96 เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ 12,000 บาท 

 

สำหรับ สว. ชุดต่อไปที่คาดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศวันรับสมัครคัดเลือกในอีกไม่นาน ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้สมัครเข้ามาเพื่อลุ้นเข้าไปเป็น สว. หรืออย่างน้อยคือเข้าไปใช้สิทธิเลือก สว. ได้เองโดยตรง โดย สว. ชุดต่อไปนี้จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการกลั่นกรองกฎหมายและแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ผู้ที่สนใจแสดงตัวสมัครเป็น สว. หรือร่วมเป็นโหวตเตอร์ สว. สามารถกรอกรายละเอียดและดูรายชื่อของผู้แสดงความจำนงได้ทาง senate67.com 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising