ข่าวการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำองค์กรมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต พร้อมประกาศวางตำแหน่งตัวเองใหม่จากการเป็น ‘Property Developer’ สู่การเป็นเพื่อนคู่คิดผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้บริโภค เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา สร้างความสนใจให้กับแวดวงอสังหาไม่น้อย อาจเพราะการปรับเปลี่ยนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เมกะเทรนด์เรื่องที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ดอกเบี้ยดีดตัวสูง กำลังซื้อบ้านลดลง พฤติกรรมการใช้ชีวิตภายในบ้านเปลี่ยนไป เสียงตอบรับของทุกธุรกิจเกี่ยวกับ ESG ไปจนถึงบริบทของสังคมไทยที่ต่างไปจากเดิม จึงเป็นความท้าทายใหม่สำหรับดีเวลลอปเปอร์
“เราไม่อยากเป็นแค่คนขายบ้านที่วันนี้ไม่น่าจะตอบโจทย์ของผู้บริโภค และไม่ตอบโจทย์ธุรกิจในระยะยาวได้” ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการปรับแนวคิด
“SENA ศึกษาว่าสังคมเปลี่ยนไปอย่างไร มี Social Challenge อะไรอยู่บ้าง เพื่อมาดูว่าในฐานะดีเวลลอปเปอร์ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดหรือนำเสนอการให้บริการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้เรายังพูดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมอยู่”
ข้อสังเกตหนึ่งที่ ดร.ยุ้ยชวนให้คิดตามคือ แม้ว่าบ้านจะเป็นปัจจัย 4 แต่บริบทของข้อเท็จจริงนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนบริบทเมืองเปลี่ยน ปัญหาเศรษฐกิจอย่างปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรายได้แล้วเป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัย
“ยกตัวอย่างเด็ก Gen Z ตอนนี้ซื้อบ้านยาก เพราะรายได้โตช้ากว่าราคาที่ดิน มีผลวิจัยจาก World Bank ที่บอกว่าเด็กเจเนอเรชันใหม่จะสะสมความมั่งคั่งยาก หนึ่งในนั้นคือการซื้อบ้าน พูดตามจริงตอนนี้รายได้ 30,000 บาท ถ้าอยากซื้อบ้านต้องโลเคชันชานเมืองมากๆ ขณะเดียวกันบริบทเมืองก็ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่จะสามารถเดินทางจากอยุธยาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ด้วยรถสาธารณะได้ทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น คนกรุงเทพฯ ค่าเดินทางต่อเดือนมากกว่า 20%”
รวมไปถึงเมกะเทรนด์ต่างๆ ทั้งเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่พร้อมเปิดรับสินค้าที่ช่วยสร้างความยั่งยืนมากขึ้น หรือเทรนด์ของสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ทำให้ความต้องการด้านบริการเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่จะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลงในอนาคต
เมื่อความท้าทายมาในรูปแบบนี้ SENA จึงมองมากกว่าการทำให้คนสามารถเข้าถึงการซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น แต่คิดเพื่อตอบสนองสินค้าและบริการที่บริษัทมีให้กับสังคมที่เราเห็น
นำไปสู่การปั้นยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อเป็น The Essential Lifelong Trusted Partner ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย
- ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวทันโลกแห่งอนาคต ด้วยการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของผู้คนในสังคม ทั้งอสังหาประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจให้เช่า
- สร้างความแข็งแกร่งแก่ทุกธุรกิจในเครือให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจกับคู่แข่งในตลาด ด้วยการใช้ Ecosystem ของกลุ่มธุรกิจ SENA
- พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในทุกมิติอย่างยั่งยืน ผ่านสินค้าและบริการที่มอบให้กับผู้บริโภค
ดร.ยุ้ยฉายภาพให้เห็นว่า การจะปรับธุรกิจให้ทันโลกต้องดูด้วยว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหน หากดูผลสำรวจจาก TERRA Consulting & Research พบว่า ปัจจุบันคนสนใจเรื่อง Wellbeing มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากโควิด
“วันนี้ SENA ไม่จบแค่การขายบ้านอย่างเดียวเท่านั้น การบริการก็เป็นธุรกิจที่ต้องทำต่อเนื่องด้วย ดังนั้น บริการที่จะเสริมเข้าไปใน Smart Living Solution ก็ต้องมีเรื่องนี้ หรือนิติบุคคลก็น่าจะมีการให้บริการเกี่ยวกับ Wellbeing ได้ นั่นก็เป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องคอยดูเพื่อนำมาต่อยอดองค์กรเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น”
SENA สร้างความเชื่อมั่นเพื่อเข้าไปนั่งในใจลูกค้าในฐานะ ‘The Essential Lifelong Trusted Partner’ และภายในปี 2566 ดร.ยุ้ยบอกว่า SENA จะมีความเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง เช่น Smart Solution Platform, Nursing Home and Wellness และ Zero Energy House หรือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ นำร่อง 2 โครงการ ทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม
“ถือเป็นเรื่องโชคดีนะที่ได้มีโอกาสลงไปช่วยผู้ว่าฯ วางแผนยุทธศาสตร์ ทำให้เห็นบริบทของสังคมที่ใหญ่ขึ้น จริงๆ แล้วสังคมกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก เราควรจะอยู่ในจุดที่คิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการและสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คิดว่าต้องปรับกลยุทธ์แล้ว”
เมื่อถามว่าการลงพื้นที่ทำให้เห็นภาพไหนชัดเจนที่สุด ดร.ยุ้ยบอกว่า Sustainability “แม้ว่าเราจะทำเรื่อง Solar Rooftop มาตั้งนานแล้ว แต่มันยังมีมิติของความยั่งยืนที่ลึกและกว้างกว่านั้น และล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ อย่างเรื่อง Healthcare ในความเป็นจริงการเข้าถึงระบบ Healthcare จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย กลุ่มคนอายุมากขึ้นความต้องการด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้น ควรต้องมีการจัดการให้ Primary Care เช่น ไข้หวัดหรืออาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ฉุกเฉินจบได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะการไปโรงพยาบาลมีต้นทุนมากมาย เสียเวลา เปลืองน้ำมัน สร้างคาร์บอน
“ความหมายของ Sustainability ที่ดีที่สุดคือความหมายที่ UN บอกว่าการที่เราทำอะไรวันนี้แล้วมันไม่ส่งผลกระทบไปถึงคนรุ่นหลังหรือไม่ทำให้ผลประโยชน์ที่คนรุ่นหลังจะได้รับมันลดลง คำถามคือทำไมทุกคนต้องทำ ทำไมตลาดหลักทรัพย์ต้องให้ธุรกิจเขียน ESG ในรายงาน เพราะมันเป็นความท้าทายของทุกคน ถ้าไม่ช่วยกันจะไม่มีใครรอด”
ในฐานะสื่อที่ตามติดความเคลื่อนไหวของ มาโดยตลอด พร้อมๆ กับติดตามการเคลื่อนตัวของเมกะเทรนด์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ เชื่อว่าการปรับทัพโดยนำปัจจัยรอบทิศมาเป็นองค์ประกอบในการคิดกลยุทธ์ หรือการมองภาพธุรกิจอสังหาในมิติใหม่ของ ‘SENA’ จะยกระดับการเติบโตของธุรกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน